
ในประเทศญี่ปุ่น มีผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนจำนวนมากที่เปล่งประกายด้วยงานหัตถกรรม ตั้งแต่พู่กันและแท่นฝนหมึกสำหรับการเขียนพู่กันโชะโด ไปจนถึงลูกคิด ได้ถือกําเนิดขึ้นและสนับสนุนรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไอเท็มซึ่งได้รับการกําหนดให้เป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีความงดงามด้านศิลปะ ใช้งานได้จริง และยังได้รับความนิยมใช้เป็นของที่ระลึกอีกด้วย ในบทความนี้เราจะพาไปชมลักษณะกระบวนการผลิตและประวัติความเป็นมาของเครื่องเขียนดังกล่าว มาลองสัมผัสความลึกซึ้งของเครื่องเขียนแบบดั้งเดิมในญี่ปุ่นดูมั๊ยคะ?
* หากคุณซื้อหรือจองผลิตภัณฑ์ที่แนะนําในบทความ ยอดขายส่วนหนึ่งอาจนำไปสมทบกับ FUN! JAPAN
เครื่องเขียนที่ได้รับการกําหนดให้เป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง?
เครื่องเขียนที่ได้รับการกำหนดให้เป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้แก่ พู่กัน แท่นฝนหมึก และหมึก จาก Bunbo Shiho (*) และลูกคิดที่ใช้ในการคํานวณ ซึ่งล้วนแต่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยมือโดยช่างฝีมือทั้งสิ้น เครื่องเขียนแบบดั้งเดิมเหล่านี้ยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากแม้ในปัจจุบันที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์และเครื่องคิดเลขกลายเป็นกระแสหลักสําหรับการทำงานต่างๆเช่น การเขียนและการคํานวณ
* Bunbo Shiho: เครื่องมือ 4 อย่างที่ขาดไม่ได้ในการเขียนตัวอักษร ได้แก่ พู่กัน กระดาษ หินฝนหมึก และหมึก
พู่กัน

พู่กัน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเขียนตัวอักษรและระบายสี โดยมีมัดขนพู่กัน เช่น ขนสัตว์ติดอยู่ที่ปลายด้ามพู่กันที่ทําจากไม้หรือไม้ไผ่
สามารถใช้เขียนหรือวาดภาพ โดยใช้ส่วนที่เป็นขนพู่กัน จุ่มที่หมึกหรือสี ในบางครั้งก็ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแต่งหน้าด้วยเช่นกัน
มีพู่กันจากแหล่งผลิต 4 แห่งที่ได้รับการกำหนดให้เป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมของชาติ ได้แก่ พู่กันนาราของจังหวัดนารา พู่กันคุมาโนะและพู่กันคาวาจิริของจังหวัดฮิโรชิม่า และพู่กันโทโยฮาชิของจังหวัดไอจิ ในบรรดาพู่กันเหล่านี้ เราจะแนะนําพู่กันคุมาโนะซึ่งมีปริมาณการผลิต 80% ของทั้งประเทศและพู่กันนาราซึ่งมีประวัติยาวนานที่สุด
🛒 ซื้อ "พู่กัน" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
🛒 ซื้อ "พู่กันโทโยฮาชิ" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
พู่กันคุมาโนะ

พู่กันคุมาโนะ เป็นพู่กันแบบดั้งเดิมที่ผลิตในอำเภอคุมาโนะ จังหวัดฮิโรชิมะ ในช่วงปลายสมัยเอโดะ ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคนิคนี้จากช่างฝีมือพู่กันของแคว้นฮิโรชิมะ และแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค ในปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 80% ของการผลิตของประเทศและเป็นที่รู้จักในนาม "เมืองแห่งพู่กัน"
เป็นที่รู้จักกันดีว่าผลิตอย่างพิถีพิถันทีละชิ้นโดยช่างฝีมือที่มีทักษะ โดยใช้ขนสัตว์จากแพะ ม้า กวาง พังพอน ฯลฯ ผ่านกระบวนการมากถึง 80 กระบวนการ เสน่ห์อย่างหนึ่งคือการผลิตพู่กันเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น พู่กันสำหรับเขียนตัวอักษร พู่กันสำหรับวาดภาพ และพู่กันสำหรับแต่งหน้า
นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งแบรนด์ "KUMANOFUDE®" ซึ่งมอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามมาตรฐานที่เข้มงวด เช่น แหล่งผลิต วัตถุดิบ และวิธีการผลิตเท่านั้น ได้รับความนิยมจากผู้ใช้หลากหลาย ตั้งแต่นักเรียนชั้นประถมไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนพู่กันโชะโด
🛒 ซื้อ "พู่กันคุมาโนะ" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
พู่กันนารา
พู่กันนารา เป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่มีประวัติยาวนานประมาณ 1,200 ปีที่ผลิตในอำเภอนาราและอำเภอยามาโตโคริยามะ ต้นกําเนิดของมันอยู่ในสมัยเฮอันตอนต้น ว่ากันว่าประวัติศาสตร์การทําพู่กันในญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Kobo Daishi (Kukai) ส่งต่อวิธีการทําพู่กันที่นํากลับมาจากราชวงศ์ถังให้กับชาวแคว้นยามาโตะ (จังหวัดนาราในปัจจุบัน)
คุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมที่สุดของพู่กันนาราคือการผสมผสานขนสัตว์มากกว่าสิบชนิด เช่น ขนแกะ ขนแรคคูน และขนกระต่าย ฯลฯ และผสมผสานความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และความยาวของขนสัตว์เข้าด้วยกันอย่างประณีต เนื่องจากคุณภาพของขนสัตว์มีความแตกต่างกัน ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนของร่างกาย ที่อยู่อาศัยและเวลาในการเก็บเกี่ยว ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของขนสัตว์แต่ละชนิดจะช่วยสร้างพู่กันที่มีสัมผัสการเขียนที่ยอดเยี่ยม
ด้วยเหตุนี้ช่างฝีมือจึงต้องมีทักษะและความชำนาญในแต่ละกระบวนการที่ถูกแบ่งออกอย่างประณีต ตั้งแต่การคัดแยกเส้นขนสัตว์ไปจนถึงการจัดทรง การทำให้แห้ง และการตกแต่งขนพู่กันในขั้นสุดท้าย พู่กันนาราซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่นและทักษะที่ปลูกฝังมานานหลายปีของช่างฝีมือยังคงสืบทอดกันมาเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ของพู่กันญี่ปุ่น
🛒 ซื้อ "พู่กันนารา" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
แท่นฝนหมึก

แท่นฝนหมึกเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการฝนหมึกเพื่อใช้ในการเขียนพู่กันโชะโดและการวาดภาพด้วยหมึก ส่วนมากจะทําจากหินและกระเบื้อง เป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณในฐานะหนึ่งในเครื่องมือ 4 อย่างจาก Bunbo Shiho มีแหล่งผลิตทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่เราจะแนะนําแท่นฝนหมึกโอกัตสึและแท่นฝนหมึกอากามะซึ่งได้รับการกําหนดให้เป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิม
แท่นฝนหมึกโอกัตสึ

แท่นฝนหมึกโอกัตสึ งานหัตถกรรมดั้งเดิมที่ผลิตในอำเภออิชิโนะมากิและอำเภอเซ็นได จังหวัดมิยางิ ว่ากันว่ามีการผลิตแท่นฝนหมึกอยู่ก่อนแล้วในเขตโอกัตสึของเมืองอิชิโนะมากิประมาณปี ค.ศ. 1396 และเป็นแท่นฝนหมึกที่มีประวัติยาวนานกว่า 600 ปี
คุณสมบัติที่โดดเด่นอยู่ที่ความสมดุลที่ยอดเยี่ยมของ "โฮโบ" ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของแท่นฝนหมึก โฮโบ หมายถึง ผิวขรุขระเล็กๆ ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนฟันเวลาฝนหมึก ความสมดุลระหว่างความหยาบ ความละเอียด ความแข็ง และความอ่อนของโฮโบ ถือว่ามีความสำคัญมากเวลาฝนหมึก นอกจากนี้ เฉดสีครามเข้มและสีดําเข้มมันวาว และความเรียบเนียนของพื้นผิวหินก็เป็นเสน่ห์เช่นกัน
วัตถุดิบสําหรับแท่นฝนหมึกที่ยอดเยี่ยมเช่นนั้นคือ "หินโอกัตสึ" หินโอกัตสึเป็นหินชนวนแข็งที่สกัดจากชั้นพาลีโอโซอิกเมื่อ 2~300 ล้านปีก่อน มีความทนทานสูงและเสื่อมสภาพได้ยาก ในสมัยเอโดะ ได้ถูกนำไปมอบแก่ดาเตะ มาซามุเนะ ผู้ปกครองแคว้นเซ็นได (ปัจจุบันคือจังหวัดมิยางิและจังหวัดอิวาเตะตอนใต้) และได้รับการคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เทคนิคต่างๆ ของช่างฝีมือก็ได้รับการสืบทอดต่อมา และยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบการเขียนพู่กันโชะโดในปัจจุบัน
🛒 ซื้อ "แท่นฝนหมึกโอกัตสึ" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
แท่นฝนหมึกอาคามะ
แท่นฝนหมึกอาคามะ ซึ่งผลิตในอำเภอชิโมโนะเซกิและอำเภออุเบะในจังหวัดยามากุจิ จากบันทึกพบว่ามีการมอบให้กับศาลเจ้าสึรุโอกะฮาจิมังกุในปี ค.ศ. 1191 (สมัยคามาคุระ) ดังนั้นจึงเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแท่นฝนหมึกที่มีการผลิตอยู่ก่อนแล้วในศตวรรษที่ 12 ต่อมาในสมัยเอโดะ ได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของแคว้นโชชู (จังหวัดยามากุจิในปัจจุบัน)
หินอาคามะที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีลักษณะเด่นคือ ความหนาแน่น แข็ง และเหนียว จึงทําให้แกะสลักได้ง่าย นอกจากนี้ยังเป็นหินที่อาจมีชั้นสีเขียวผสมกับพื้นสีม่วงอมแดงและมีลวดลาย เช่น ตาหินที่สวยงาม* (เซคิกัน) ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหินอาคามะ
เทคนิคและกระบวนการผลิตของแท่นฝนหมึกซึ่งอาศัยเสน่ห์เหล่านั้น ได้รับการถ่ายทอดสู่ช่างฝีมือในปัจจุบันโดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 100 ปี คุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ โฮโบที่แข็งแรง ดังนั้นจึงทำให้สีออกดีและสามารถฝนน้ำหมึกที่กระจายตัวดีได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีเสน่ห์จากการตกแต่งที่หรูหรา ที่ผสมผสานการใช้งานจริงและศิลปะเข้าด้วยกันอีกด้วย
* ตาหิน: ลวดลายกลมเหมือนดวงตา
🛒 ซื้อ "แท่นฝนหมึกอาคามะ" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
หมึก

หมึก เป็นเม็ดสีชนิดหนึ่งที่มีสีดำ ใช้ในการเขียนพู่กันโชะโดและการวาดภาพด้วยหมึก หมึกจะมี 2 ประเภท ได้แก่ หมึกเขม่าน้ำมัน (Yuen-boku) และหมึกเขม่าสน (Shoen-boku) หมึกเขม่าน้ำมัน ทําจากเขม่าที่ได้จากการเผาน้ำมัน เช่น น้ำมันเรพซีด น้ำมันงา น้ำมันคาเมลเลีย และน้ำมันเพาโลเนีย ส่วนหมึกเขม่าสน ทําจากเขม่าที่ได้จากการเผายางสน
เขม่าจะถูกนำมาผสมกับกาวและน้ำหอม ขึ้นรูปในแม่พิมพ์ไม้ และตากให้แห้งเป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายปีเพื่อทําเป็นหมึก เดิมทีใช้น้ำหอมเพื่อกําจัดกลิ่นกาว แต่ปัจจุบันมีการใส่ส่วนผสมต่างๆ เช่น การบูร เป็นต้น เนื่องจากมีความต้องการกลิ่นหอมที่หรูหราเพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศเวลาใช้งาน
หมึกนารา
หมึกนาราเป็นหมึกแบบดั้งเดิมที่มีประวัติยาวนานกว่า 1,300 ปีที่ผลิตในอำเภอนารา จังหวัดนารา กล่าวกันว่ามีต้นกําเนิดในปี ค.ศ. 806 เมื่อ Kobo Daishi (Kukai) ซึ่งถูกส่งไปเป็นทูตของราชวงศ์ถัง ได้นําวิธีการทําหมึกกลับมาและผลิตที่วัด Kofukuji Nitaibo ในนารา
เมื่อเวลาผ่านไป ที่วัด Kofukuji Nitaibo ได้มีการเก็บเขม่าจากตะเกียงที่ถวายพระพุทธรูปมาผลิตเป็นหมึกเขม่าน้ำมัน ด้วยคุณภาพที่สูงหมึกนาราจึงถูกเรียกว่า เขม่าน้ำมันนันโตะ และมีชื่อเสียงในฐานะคำเรียกตัวแทนของหมึก ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 90% ของตลาดทั่วประเทศ
หมึกนาราโดดเด่นด้วยสีสันที่สวยงามและการเขียนที่ลื่นมือซึ่งสร้างขึ้นโดยช่างฝีมือที่ผลิตด้วยมือในหลายกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานนวดเขม่ากับกาวจะต้องดําเนินการในขณะที่ต้องคอยตรวจสอบสภาพของหมึกไปด้วย ดังนั้นจึงจําเป็นต้องนวดด้วยเท้าเปล่าและมือเปล่าแม้ในฤดูหนาวที่เหมาะสําหรับการทําหมึก หมึกนาราซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคดั้งเดิมดังกล่าวยังคงได้รับชื่นชมเป็นอย่างมากเนื่องจากมีคุณภาพสูง
🛒 ซื้อ "หมึกนารา" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
หมึกซูซูกะ

หมึกซูซูกะซึ่งผลิตในอำเภอซูซูกะ จังหวัดมิเอะ กล่าวกันว่ามีต้นกําเนิดขึ้นราวปี ค.ศ. 780 (ยุคเฮอันตอนต้น) โดยการเผาต้นสนจากภูเขาซูซูกะและเก็บเขม่า ในสมัยเอโดะความต้องการหมึกคุณภาพสูงเพื่อเขียนตราประจำตระกูลของไดเมียวและการแพร่กระจายของเทราโคยะ* ทำให้ความต้องการหมึกเพิ่มขึ้นและช่วยพัฒนาการผลิตหมึก
ถือเป็นหนึ่งในสองแหล่งผลิตหมึกที่สําคัญในญี่ปุ่นเทียบเท่านารา ผลิตด้วยมือโดยช่างฝีมืออย่างประณีตในฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเมษายน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิและความชื้นได้ง่าย หมึกซูซูกะ โดดเด่นด้วยเนื้อสัมผัสมันวาวมีความเรียบเนียนและสีที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสมดุลระหว่างเส้นและการซึมของหมึกมีความประณีต ช่วยสร้างความลึกให้แก่ผลงาน
* เทราโคยะ: สถานที่ที่ในสมัยเอโดะ เด็กทั่วไปได้รับการสอนให้อ่าน เขียน และคํานวณด้วยลูกคิด
🛒 ซื้อ "Suzuka Ink" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
[kkday]👉JP Calligraphy and Zen Journey: ค้นหาชื่อของคุณในคันจิ
[kkday]👉TH Calligraphy & Zen Journey: ค้นพบชื่อของคุณในคันจิ
[kkday]👉ID Calligraphy & Zen Journey: ค้นพบชื่อของคุณในคันจิ
[kkday]👉TH การเขียนอักษรและการเดินทางแบบเซน: ค้นพบชื่อของคุณด้วยอักษรคันจิ
[kkday]👉TW 書法與禪之旅:用漢字發現你的名字
[kkday]👉HK 書法與禪之旅:用漢字發現你的名字
[kkday]👉VN Hành trình Thư pháp & Thiền: Khám phá Tên ของ Bạn bằng Kanji
ลูกคิด

ลูกคิด เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับคํานวณโดยการเลื่อนลูกปัดขึ้นและลง มีลักษณะเป็นกรอบแนวนอน มีแกนที่ร้อยลูกปัดเรียงเป็นแถว ถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน มีแหล่งผลิตหลักสองแห่ง ได้แก่ ลูกคิดบันชู (จังหวัดเฮียวโงะ) และ ลูกคิดอุนชู (จังหวัดชิมาเนะ) ได้รับการกําหนดให้เป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมของประเทศ
ลูกคิดบันชู
ลูกคิดบันชูส่วนใหญ่ผลิตในอำเภอโอโนะ อำเภอคะไซ อำเภอมิกิ และอำเภอคาโกกาวะ ฯลฯ จังหวัดเฮียวโงะ ในช่วงปีเท็นโช ของสมัยอาซึจิโมโมยามะ ชาวบันชูซึ่งหลบหนีจากการรุกรานของกองทัพศัตรูได้เรียนรู้เทคนิคการผลิตลูกคิดในโอสึและเริ่มผลิตหลังจากกลับบ้านเกิด
ลักษณะเด่นคือ ลูกปัดทรงเพชรที่โค้งมนเล็กน้อย ทําจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เบิร์ชและไม้บ็อกซ์วูด มีเสน่ห์ที่ความงามมันวาวและการเคลื่อนไหวที่ราบรื่นบนแกนแข็งและยืดหยุ่น สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับลูกคิดบันชู คือ วัสดุที่ถูกทำให้แห้งตามธรรมชาติเป็นเวลานานและงานของช่างฝีมือเฉพาะทาง เช่น การกลึงและตกแต่งเม็ดลูกปัด การทําแผ่นไม้ไผ่และการประกอบเข้าด้วยกัน กระบวนการมากกว่า 200 กระบวนการส่วนใหญ่ทำด้วยมือ
ครั้งหนึ่งความต้องการลูกคิดลดลงเนื่องจากเครื่องคิดเลขถือกำเนิดขึ้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาลูกคิดได้รับการประเมินใหม่ว่าเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ช่วยปรับปรุงความสามารถในการคำนวณและเป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมเชิงศิลปะ
🛒 ซื้อ "ลูกคิดบันชู" (Yahoo! ช้อปปิ้ง)
ลูกคิดอุนชู
ลูกคิดอุนชู ถือกําเนิดและผลิตขึ้นในช่วงปลายสมัยเอโดะในเมืองนิตะ จังหวัดชิมาเนะ (ปัจจุบันคือตำบลโอคุอิซุโมะ กิ่งอำเภอนิตะ) เดิมทีสร้างขึ้นโดยช่างไม้ในท้องถิ่น โดยใช้ลูกคิดของฮิโรชิมะเป็นตัวอ้างอิงและทําขึ้นจากไม้โอ๊ค ไม้บ๊วย และไม้ไผ่สีน้ำตาล
ต่อมา ช่างฝีมือในเมืองโยโกตะ (ตำบลโอคุอิซุโมะในปัจจุบัน) ได้พัฒนาวงล้อแบบมือหมุนใช้สําหรับแกะสลักลูกปัดขึ้น ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสามารถผลิตลูกคิดคุณภาพสูงได้ จึงมีคำกล่าวที่ว่า "เมื่อพูดถึงลูกคิดนึกถึงอุนชู"
ลักษณะเด่นของลูกคิดอุนชู คือเสียงที่ใสและการเคลื่อนไหวที่ราบรื่นของลูกปัด วัสดุที่ใช้ได้รับการคัดเลือกอย่างดีจากไม้คุณภาพสูง เช่น ไม้เบิร์ช ไม้บ็อกซ์วูด และไม้มะเกลือ ซึ่งผ่านกระบวนการทำให้แห้งโดยธรรมชาติก่อนนำไปแปรรูป ขั้นตอนการผลิตลูกคิดอุนชูมี 187 กระบวนการ ส่วนใหญ่ทําด้วยมือซึ่งเป็นคุณสมบัติของลูกคิดอุนชู ในปัจจุบัน ตำบลโอคุอิซุโมะยังคงผลิตลูกคิดประมาณ 70% ของการผลิตทั่วประเทศ และยังคงสืบทอดประเพณีในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตลูกคิดอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น
Comments