หนึ่งใน 武道 "บุโด" ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น เคนโด้เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจ มาจากวิชาดาบญี่ปุ่นดั้งเดิม ปัจจุบันมีการฝึกฝนกันทั่วโลก โดยมีการจัดการแข่งขันระดับโลกสามครั้ง การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทักษะ และองค์ประกอบของเคนโด้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เช่นเดียวกับศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ผสมผสานการต่อสู้เข้ากับมารยาทต่าง ๆ
เคนโด้ คืออะไร?
เคนโด้มีความหมายว่า 'วิถีแห่งดาบ' เป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เคยถูกโยงเข้ากับวิถีชีวิตของซามูไรและนักรบ ปัจจุบันมีความทันสมัยและเป็นกิจกรรมยอดนิยมทั้งในหมู่นักเรียนและผู้ใหญ่ ผู้ที่ฝึกฝนจะเรียกกันว่า Kendo-ka (เคนโดกะ นักเคนโด้) โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมทั้งจิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณ และมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นแบบอย่างสำหรับมารยาทต่าง ๆ และการมุ่งเน้นที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถก้าวไปสู่สังคมต่อไป
ประวัติความเป็นมาของเคนโด้
การกำเนิดของ "นิฮอนโต" หรือดาบญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน (794 - 1185) ถูกมองกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเคนโด้โดยหลาย ๆ คน ด้วยใบมีดโค้งอันโดดเด่นและสันดาบที่โค้งขึ้น ใบมีดอันเป็นเอกลักษณ์นี้นำไปสู่ศิลปะการฟันดาบแบบพิเศษที่พัฒนาโดยซามูไร ที่รู้จักกันในนาม 剣術 (Kenjutsu เค็นจุตสึ วิชาดาบ) ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคนิคและทักษะดาบที่หลากหลายที่ใช้ในการต่อสู้โดยทั้งเหล่าทหารราบและนักรบที่อยู่บนหลังม้า
ในช่วงเวลาแห่งความสงบสุขที่มาพร้อมกับยุคเอโดะ (1603 - 1867) ศาสตร์แห่งการฟันดาบได้เปลี่ยนจากการใช้ความรุนแรงมาสู่การเสริมสร้างมนุษยธรรม โดยเน้นที่วิถีชีวิตที่มีระเบียบวินัยและพัฒนาแนวคิด 活人剣 (katsunin-ken คัตสึนิน-เค็น) ซึ่งหมายถึง 'ดาบที่ให้ชีวิต' การรบและจิตวิญญาณถูกเชื่อมเข้าหากันโดยนักปรัชญาในสมัยนั้น โดยมีตำรามากมายที่เขียนขึ้นโดยชนชั้นปกครอง ผู้นำทางศาสนา และซามูไร การมุ่งเน้นที่ศักยภาพของการยอมเสียสละครั้งสุดท้ายจากนักดาบและความแตกต่างระหว่างความดีและความชั่วเป็นกุญแจสำคัญ และสร้างพื้นฐานของจิตวิญญาณของ 武士道 (Bushido บูชิโด วิถีของนักรบ)
เมื่อองค์ประกอบทางจิตของเคนจุทสึเปลี่ยนทิศทาง การมุ่งเน้นทางกายภาพก็เช่นกัน วิชาดาบกลายเป็นศิลปะด้วยความสง่างามและวินัยที่เน้นการฝึกฝนและการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์แบบ ดาบไม้ไผ่ถูกนำมาใช้เพื่อให้สามารถฝึกฝนได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บในศตวรรษที่ 18 และเคนโด้เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อชนชั้นซามูไรถูกยกเลิกในโองการฟื้นฟูเมจิ (1868) ดาบก็ถูกห้ามใช้ แต่ก็มีการฟื้นฟูเกิดขึ้นและค่อย ๆ กลับคืนสู่ความเป็นที่โปรดปรานของผู้คนอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1912 นิปปอนเคนโดคาตะ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรวมคำสอนของเค็นจุสึ (วิชาดาบ) จากนั้น บุจุตสึ (武術 Bujutsu วิชาต่อสู้) และ เค็นจุตสึ ได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น 武道 (Budo ศิลปะการต่อสู้) และ 剣道 (Kendo วิถีดาบ) ในปี 1919 โดยแทนที่คำว่า 術 jutsu (วิชา) ด้วย 道 do (วิถี) เพื่อเน้นการเน้นองค์ประกอบทางจิตวิญญาณ
หลังจากการเข้ายึดครองญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลก เคนโด้ถูกสั่งห้ามช่วงสั้น ๆ โดยกล่าวว่าเป็นการฝึกซ้อมทางทหาร แต่หลังจากที่กลับสู่อิสรภาพ เคนโด้ก็กลับมาถูกฝึกกันอีกครั้ง และสหพันธ์เคนโด้แห่งญี่ปุ่นก็ก่อตั้งขึ้นไม่นานหลังจากนั้นในปี 1952 และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นสหพันธ์ในปี 1954 สหพันธ์เคนโด้นานาชาติได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1970 และการแข่งขันชิงแชมป์โลกเคนโด้ครั้งแรกจัดขึ้นในปีเดียวกันในโตเกียว ในปัจจุบัน มีประเทศกว่า 50 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปีในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก
ปรัชญาของเคนโด้
พัฒนาขึ้นจากศิลปะการป้องกันตัว เคนโด้ได้กลายสภาพเป็นการฝึกวินัยและการพัฒนาบุคลิกภาพ องค์ประกอบสำคัญที่เน้นโดยสหพันธ์เคนโด้แห่งญี่ปุ่นทั้งหมดยังรวมถึงการปลูกฝังจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง ความจริงใจ มารยาท การให้เกียรติ และการพัฒนาตนเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลสามารถมีส่วนร่วมในสังคม รักสังคม และส่งเสริมสันติภาพในโลกกว้างสืบต่อไป
เป้าหมายของ 心気力の一致 (shin-ki-ryoku-no--itchi ความเป็นเป็นหนึ่งเดียวของจิตใจ จิตวิญญาณ และเทคนิค) เป็นกุญแจสำคัญ โดยการใช้ 竹刀 (shinai ดาบไม้) ยังใช้ทั้งกับคู่ต่อสู้ และยังรวมถึงการใช้กับตัวผู้ใช้เองด้วย 礼法 (Reiho มารยาท) เป็นอีกแง่มุมที่สำคัญของเคนโด้และสะท้อนถึงความสำคัญของมารยาท การแสดงความเคารพต่อคู่ประมือตลอดเวลาพร้อมกับการมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างและพัฒนาซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนาลักษณะนิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตนทั้งในและนอกเคนโด้ 交剣知愛 (Koken-chiai การประดาบเพื่อรู้และเข้าใจกันและกัน) เป็นอุดมคติในการบรรลุความเข้าใจร่วมกันเพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติผ่านเคนโด้ และเป็นแกนหลักของการปฏิบัติทางศิลปะทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นวิถีแห่งดาบ แต่เชื่อกันว่าเคนโด้ควรเสริมสร้างวิถีชีวิตด้วยทักษะและการเติบโตที่มาจากการปฏิบัติที่นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันในทุกแง่มุม
อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเคนโด้
เคนโด้ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษสำหรับฝึกซ้อมและอุปกรณ์ควบคุมสำหรับใช้ในการแข่งขัน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยดาบไม้ไผ่และชุดเกราะป้องกัน
Shinai: ดาบ
จุดโฟกัสของเคนโด้คือดาบไม้ที่เรียกว่า 竹刀 (shinai ชิไน) ซึ่งประกอบเป็นแผ่นไม้ไผ่และแผ่นหนังมัดรวม คำว่า shinai มาจากคำว่า 撓う shinau ซึ่งหมายถึงการโค้งงอ และแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า 撓い竹 shinai-take ซึ่งหมายถึง ไม้ไผ่ที่โอนอ่อน อย่างไรก็ตาม ในตัวอักษรคันจิก็มีคำว่า 刀 ดาบ ซึ่งสะท้อนถึงการใช้คำเฉพาะในเคนโด้ การไร้ซึ่งความแข็งของเนื้อไม้ก็หมายความว่า เนื้อไม้ไผ่จะดูดซับแรงกระแทกจากการโจมตีและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้รับ
ชินายประกอบขึ้นจากส่วนต่างๆ รวมถึง 柄 (tsuka ซึกะ ด้าม) และ つば (tsuba ซึบะ ปะกันดาบ) ที่เชื่อมแผ่นไม้ไผ่ทั้งสี่เข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ก่อตัว 竹 (take ตัวดาบไม้ไผ่) ขึ้นและถูกถึดไว้ด้วยแผ่นหนังและเชือกผูก ประมาณ ⅔ ของความยาวตัวดาบไม้ไผ่จะมีที่มัดอีกตัวที่เรียกว่า 中結 (nakayui มัดกลาง) ซึ่งยึดแผ่นไม้ไว้ด้วยกัน และยังเป็นเครื่องหมายส่วนที่ใช้ปะทะกับคู่ต่อสู้ของตัวดาบไม้ชิไน ปลายถูกยึดไว้พร้อมกับตัวครอบยางที่เรียกว่า 先皮 (sakigawa ซากิงาวะ แผ่นหนังครอบปลาย)
ขนาดของชิไนถูกควบคุมโดยสหพันธ์เคนโด้นานาชาติสำหรับการแข่งขัน และโดยทั่วไปจะแตกต่างกันไปตามอายุ ความแข็งแกร่ง และขนาดของเคนโดกะ (นักเคนโด้)
โดยทั่วไปแล้ว ในเคนโด้ เคนโดกะจะใช้ชิไนหนึ่งด้าม แต่บางคนก็เลือกที่จะใช้สองด้ามในรูปแบบที่เรียกว่า 二刀 (ni-to นิโต ดาบคู่) ในรูปแบบนี้ ดาบที่ยาวกว่าจะอยู่ในมือขวา ในขณะที่ดาบที่สั้นกว่าจะอยู่ทางซ้าย แม้ว่าจะสามารถเปลี่ยนได้ก็ตาม การปฏิบัตินี้เป็นเรื่องปกติมากขึ้นในสำนักเคนโด้สาย 兵法二天一流 (Hyoho Niten Ichi-ryu)
เคนโดกะบางคนจะฝึกโดยใช้ 木刀 (bokuto โบคุโต ดาบไม้เนื้อแข็ง) ซึ่งเป็นดาบไม้ที่แข็งกว่าชิไน เพื่อลดการสึกหรอของไม้ไผ่
Kendo-bogu: เกราะป้องกัน
แม้ว่าชิไนจะได้รับการออกแบบมาเพื่อลดการบาดเจ็บทางร่างกาย แต่ก็ยังจำเป็นต้องสวมเกราะป้องกันที่เรียกว่า 剣道防具 (kendo-bogu เครื่องป้องกันตัวเคนโด้) ซึ่งจะช่วยปกป้องศีรษะ แขน ลำตัว และขา ด้วยรูปลักษณ์ที่หุ้มเกราะโดยรวม ซึ่งเมื่อรวมกับเสียงตะโกนแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า 気合い (kiai คิไอ การออกเสียงเวลาใช้แรงเพื่อควบคุมการหายใจ) ก็ดูน่าเกรงขามทีเดียว
ศีรษะได้รับการปกป้องด้วยหมวกนิรภัยที่เรียกว่า 面 (men เม็น) ซึ่งมีตะแกรงโลหะอยู่บนใบหน้าเพื่อให้เคนโดกะมองเห็นได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนต่อเป็นแผ่นหนังที่ปกป้องคอและส่วนต่อเสริมแบบบุนวมเพื่อปกป้องไหล่และด้านข้างของคอด้วย
มือและแขนได้รับการปกป้องโดยใช้ถุงมือบุนวมหนาที่เรียกว่า 小手 (kote โคะเตะ) ส่วนลำตัวได้รับการปกป้องโดยใช้เกราะป้องกันที่เรียกว่า 胴 (do โด) เอวและขาหนีบมีผ้าปิดมิดชิดที่เรียกว่า 垂 (tare ทาเระ) ซึ่งใช้แผ่นป้องกันในแนวนอนหรือแถบผ้าหนักในแนวตั้ง เสื้อผ้าที่สวมใต้เกราะประกอบด้วยฮากามะธรรมดา (กางเกงขากว้าง) และเสื้อท่อนบนพิเศษที่เรียกว่า 剣道着 (kendogi เค็นโดกิ ชุดเค็นโด) หรือ 軽工業 (keikogi เคโคกิ ชุดทำงานแบบเบา)
ทำความเข้าใจกับการแข่งเคนโด้
การให้คะแนนในการแข่งขันเคนโด้ขึ้นอยู่กับการฟันที่ถูกตัวฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนท่าทาง การตระหนักรับรู้ และแนวทางของเคนโดกะ
มารยาทและเทคนิคในการแข่งเคนโด้
ความสำคัญของมารยาทคือกุญแจสำคัญในการแข่ง โดยการแข่งเคนโด้ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการโค้งไปข้างหน้า ไปที่ผู้ตัดสิน และไปที่คู่แข่ง 仕掛け技 (shikake-waza ชิตาเคะ-วาสะ) เป็นเทคนิคเชิงรุกในการโจมตี ในขณะที่ 応じ技 (oji-waza โอจิ-วาสะ) เป็นการโจมตีสวนกลับเวลาตั้งรับ มีตัวอย่างมากมายของการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน โดยทั้งหมดทำตามแนวการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวดที่ฝึกฝนซ้ำ ๆ ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น ท่าโจมตีทั่วไปก็มีตัวอย่างคือ 払い技 (Harai-waza การปัดดาบคู่ต่อสู้เพื่อเปิดช่อง) 二段の技 (Nidan-no-waza การฟันสองครั้งรวด) และ 出ばな技 (Debana-waza การชิงลงมือก่อนขณะที่คู่ต่อสู้กำลังจะเข้ามาจู่โจม) ในขณะที่การโจมตีสวนกลับทั่วไปก็มี 抜き技 (Nuki-waza การหลบดาบและตีสวน) 打ち落とし技 (Uchiotoshi-waza การปัดดาบของคู่ต่อสู้ไปด้านข้างหรือด้านล่างแล้วตีสวน) และ 返し技 (Kaeshi-waza การปัดดาบของคู่ต่อสู้ที่ตีมาพร้อมโจมตีกลับ) เป็นต้น
การฟันดาบที่ประสบความสำเร็จในเคนโด้
สำหรับการโจมตีที่ประสบความสำเร็จ ส่วน 打突 (Datotsu-bu ส่วนที่ใช้นับคะแนน) ของดาบไม้ไผ่ชิไนจะต้องปะทะกับ Datotsu-bu ของชุดเกราะของฝ่ายตรงข้าม สำหรับชิไนก็คือด้านที่ถือเป็นคมดาบของแผ่นไม้ส่วนบนสุดจนถึงหนึ่งในสามของความยาวรวม ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นส่วนที่นาคายุอิพันไว้นั่นเอง สำหรับชุดเกราะ ส่วนที่นับคะแนนก็รวมถึงส่วนต่าง ๆ ของหมวก ด้านข้างของข้อมือ ด้านข้างของลำตัวและส่วนหน้าของลำคอ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม นอกจากการตีที่แม่นยำแล้ว เคนโดกะยังจำเป็นต้องกระทืบเท้า (踏み込む fumikomu) และตะโกน (気合い kiai) เวลาฟันดาบเพื่อให้ได้คะแนนด้วย
คะแนนในการแข่งเคนโด้
ให้คะแนนโดยผู้ตัดสิน โดยมีผู้ตัดสินคอยเฝ้าสังเกตการแข่ง 3 คนในแต่ละนัด ผู้ตัดสินใช้ธงสีเพื่อแสดงคะแนนที่พวกเขาเชื่อว่าผู้เข้าแข่งสมควรจะได้รับ และโดยปกติแล้ว สองในสามจะต้องให้ความเห็นตรงกันเพื่อให้ได้คะแนน การแข่งขันใช้ระบบการแข่งขันแบบ 3 แต้มโดยจำกัดเวลาแข่ง และมีผลลัพธ์ 3 รูปแบบที่เป็นไปได้ในกรณีที่การแข่งจบลงด้วยการเสมอกัน: 引き分け (Hikiwake เสมอกัน) 延長 (Encho ให้แข่งต่อไปจนกว่าจะมีฝ่ายใดได้คะแนน) หรือ 判定 (Hantei ให้ผู้ตัดสินโหวตเลือกผู้ชนะ) .
ระดับชั้นและคำนำหน้าในเคนโด้
เช่นเดียวกับศิลปะญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมอื่น ๆ ระดับชั้นและคำนำหน้าชื่อของเคนโด้ขึ้นอยู่กับระบบคิว (ระดับ) และดั้ง (ขั้น) ซึ่งต่างก็มีลำดับชั้นและมอบให้ด้วยการสอบหรือการประเมิน โดยที่ระดับ (คิว) ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมู่นักเรียนในโรงเรียน ในขณะที่ผู้ใหญ่จะใช้ระบบขั้น (ดั้ง)ส่วน เสื้อผ้าที่สวมใส่จะไม่มีการแบ่งระดับหรือขั้นในเคนโด้ ซึ่งก็ต่างจากศิลปะป้องกันตัวอื่น ๆ
คิวและดั้ง: การแบ่งระดับชั้นของเคนโด้
นักเรียนตามโรงเรียนที่เริ่มต้นในเคนโด้จะเริ่มต้นที่ระดับชั้นต่ำสุดซึ่งเป็นระดับ (คิว) 5 โดยจะเลื่อนระดับขึ้นไปที่ระดับ 4, 3, 2 และ 1 ตามความสามารถด้านเทคนิคและแนวทาง ถัดจากนั้นไปการแบ่งระดับชั้นแบบขั้น (ดั้ง) ก็จะเริ่มต้นขึ้น แต่การไล่ลำดับจะตรงกันข้าม การแบ่งระดับชั้นแบบดั้งเริ่มต้นด้วย 1 ดั้งและไล่ขึ้นไปจนถึง 10 ดั้ง อย่างไรก็ตาม ทักษะทางร่างกายได้รับการประเมินจนถึง 8 ดั้งซึ่งต้องใช้ทักษะขั้นสูงสุดเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไป การประเมินขั้นจะเน้นไปที่การควบคุมทางจิตและทางจิตวิญญาณทั้งหมด ปัจจุบัน 9 ดั้งและ 10 ดั้งนั้นไม่มีการมอบให้ใครโดยสหพันธ์เคนโด้แห่งญี่ปุ่นทั่วประเทศ แม้ว่าสหพันธ์เคนโด้นานาชาติจะยังอนุญาตให้มอบให้นักเคนโด้อยู่ก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดอายุในบางช่วงอีกด้วย โดย 1 ดั้งจำกัดให้เฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป และ 8 ดั้งจำกัดเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 46 ปีขึ้นไป
Shogo: คำนำหน้าในเคนโด้
เช่นเดียวกับบุโด (ศิลปะป้องกันตัว) อื่น ๆ เมื่อเคนโดกะก้าวไปสู่ระดับของดั้ง พวกเขาอาจต้องการเห็นคำนำหน้าหรือตำแหน่งอันแสดงถึงเกียรติที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการต่อสู้ ในเคนโด้ 錬士 Renshi (ผู้สอน) เป็นคำนำหน้าอย่างแรกและต้องได้ 6 ดั้งขึ้นไป และต้องมีความสามารถเป็นผู้สอนที่ดี 教士 Kyoshi (อาจารย์) ต้องได้คำนำหน้าว่า Renshi แล้วและอยู่ที่ 7 ดั้งขึ้นไปจึงจะได้รับการพิจารณา ชื่อสุดท้าย 範士 Hanshi หมายถึงปรมาจารย์และต้องมีระดับความประพฤติและมารยาทต่าง ๆ สูงสุด สำหรับเรื่องนี้ เคนโดกะจะต้องได้รับคำนำหน้าว่า Kyoshi แล้วและต้องได้ 8 ดั้งเคนโด้แล้ว
Comments