【วัฒนธรรมญี่ปุ่น】วันที่ 22 กุมภาพันธ์คือวันอะไร? สรุปประวัติและกิจกรรมที่จัดเกี่ยวกับวันแมวของญี่ปุ่น

แมว - สัตว์ที่เป็นที่รักของใครหลายคนและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราค่ะ ในญี่ปุ่น วันที่ 22 กุมภาพันธ์ได้รับการกำหนดเป็น "วันแมว" แต่ทำไมวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ถึงถูกกำหนดเป็น "วันแมว" ล่ะ? เราจะมาแนะนำให้คุณทราบพร้อมกล่าวถึงตัวอย่างของวัฒนธรรมแมวในญี่ปุ่นด้วยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง: 【วัฒนธรรมญี่ปุ่น】รวมวันครบรอบและ "วัน○○" ของญี่ปุ่น วันนี้เป็นวันอะไรเอ่ย?

วรรณกรรม, สุภาษิต, แมวกวัก... "วัฒนธรรมแมว" ต่างๆ ในญี่ปุ่น

เริ่มต้นกันด้วยการมาดูว่าแมวมีบทบาทอย่างไรในวัฒนธรรมญี่ปุ่นค่ะ

ฮารุกิ มุราคามิ, นัตสึเมะ โซเซกิ... แมวในวรรณกรรมญี่ปุ่น

ในวงการวรรณกรรมนั้น ไม่เพียงแค่นวนิยาย "อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว" (吾輩は猫である / I am a Cat) ของ นัตสึเมะ โซเซกิ เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักกันดี แต่ในผลงานของ ฮารุกิ มุราคามิ ซึ่งเป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อย่าง "คาฟกา วิฬาร​์ นาคาตะ" (海辺のカフカ / Kafka on the Shore) ก็มีการปรากฏของชายแก่ลึกลับที่สามารถพูดคุยกับแมวได้ด้วยค่ะ นอกจากนี้ ในเรียงความที่ฮารุกิเขียนแสดงความรู้สึกที่มีต่อพ่อ ซึ่งมีชื่อว่า "ทิ้งแมว: เรื่องราวของพ่อและผม" (猫を棄てる 父親について語るとき / Abandoning a Cat, When I Talk About My Father) การปรากฏของแมวก็ถูกเขียนไว้ในเชิงสัญลักษณ์ ในผลงานวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมมากมายของญี่ปุ่นนั้น แมวก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นกันค่ะ

ความหมายของ "เนโกะนิโคะบัง" คืออะไร? แมวในศัพท์ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ในศัพท์ภาษาญี่ปุ่นยังมีสำนวนและคำคมที่เกี่ยวข้องกับแมวอีกมากมายด้วยค่ะ

猫に小判 (Neko ni koban / เนโกะนิโคะบัง - เอาเหรียญทองให้แมว - 'ยื่นแก้วให้วานร')

สำนวนนี้ใช้เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่ 'ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีค่าแค่ไหน ถ้าคนที่ได้รับไม่รู้ถึงคุณค่าก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ'

猫の手も借りたい (Neko no te mo karitai / เนโกะโนะเทะโมะคาริไต - อยากยืมแม้แต่มือแมว - 'ยุ่งเหมือนยุงตีกัน')

สำนวนนี้หมายถึงสภาพที่ยุ่งยากมากและอยากยืมมือใครก็ได้มาช่วย แม้แต่แมวก็เอาค่ะ

猫の額 (Neko no hitai / เนโกะโนะฮิไต - หน้าผากแมว - 'แคบเหมือนรูหนู')

คำอุปมาอุปมัยนี้มาจากหน้าผากของแมวที่เล็กและแคบ ถูกใช้เพื่ออธิบายถึง 'พื้นที่ที่เล็กหรือแคบมากๆ'

猫も杓子も (Neko mo shakushi mo - แมวและทัพพี - 'ทุกผู้ทุกนาม')

สำนวนนี้อธิบายถึงสถานการณ์ที่คนทั่วไปจำนวนมากมีส่วนร่วมในเรื่องบางอย่างค่ะ

猫を被る (Neko wo kaburu - สวมหน้ากากแมว - 'เสแสร้งแกล้งทำ')

วลีนี้หมายถึง 'ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ (หลังจากทำผิด)' หรือ 'ซ่อนนิสัยที่แท้จริงของตัวเอง'

วัฒนธรรม 'แมวกวัก มาเนคิเนโกะ'

เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมแมวในประเทศญี่ปุ่น "มาเนคิเนโกะ" หรือ "แมวกวัก" ก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ค่ะ นี่คือตุ๊กตาวางประดับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นในสมัยเอโดะ เพื่อใข้เป็น "สิ่งนำโชคที่กวักเรียกชวนโชคลาภ" ค่ะ โดยทั่วไปแล้วมีรูปร่างเป็นแมวที่นั่งด้วยบนขาหลัง หันหน้าให้กับผู้ที่พบเห็น และกวักขาหน้าหนึ่งข้างเชิญชวน แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างไปอีกมากมนทั้งในท่าทางและสีของตัวแมว แต่ละแบบก็มีความหมายและความปรารถนาแตกต่างกันไปค่ะ

ตัวอย่างเช่น มือที่แมวกวักใช้กวักก็ถูกแปลความหมายว่า "แมวกวักที่กวักด้วยมือขวาจะกวักเรียก 'เงิน' ในขณะที่แมวที่กวักด้วยมือซ้ายจะกวักเรียก 'คนหรือลูกค้า' เข้ามา" นอกจากนี้ ความสูงของมือที่ยกขึ้นกวักก็ถูกกล่าวว่า "ถ้ามือที่ยกขึ้นสูงเกินหูของแมว จะถูกเรียกว่า 'มือยาว' และกวักเรียกโชคลาภที่อยู่ไกลหรือโชคลาภก้อนใหญ่" และ "ถ้ามือยกต่ำกว่าหูแมว ก็จะกวักเรียกโชคลาภใกล้ๆ หรือความสุขใกล้ตัว" ค่ะ นอกจากนี้ สีของแมวก็ถูกกล่าวว่าแทนความปรารถนาต่างๆ เช่น "สีขาวสำหรับ 'เปิดดวงเรียกโชค' และ ครอบครัวปลอดภัย' สีทองสำหรับ 'ดวงเงินเต็มเปี่ยม' สีดำสำหรับ 'ปัดรังความเปิดโชค' สีแดงสำหรับ 'สุขภาพดีอายุยืน' และสีชมพูสำหรับ 'สมหวังเรื่องความรัก'" ค่ะ

ความนิยมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของ "เกาะแมว" และ "วัดแมว" ในการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

เมื่อเร็วๆ นี้ เกาะต่างๆ ที่รู้จักกันในนาม "เกาะแมว" ก็กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งก็กระจายอยู่หลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น รวมถึงทะเลในเซโตะด้วยค่ะ บนเกาะเหล่านี้ แมวก็อาศัยอยู่ทั่วทุกที่ และในบางแห่ง ยังมีการกล่าวว่ามีจำนวนแมวที่อาศัยอยู่บนเกาะมากกว่าจำนวนคนที่อยู่อาศัยบนเกาะเสียอีกค่ะ นอกจากนี้ยังมี "วัดแมว" จำนวนมากที่มีแมวอาศัยอยู่มาก รวมถึง "วัดโกะทันโจจิ" ในจังหวัดฟุกุอิด้วยค่ะ หากคุณเป็นทาสแมว หรือหากคุณต้องการที่จะมีการสัมผัสกับแมวพร้อมกับทิวทัศน์ของบ้านเรือนญี่ปุ่น ลองไปเยี่ยมชมครั้งหนึ่งพร้อมเตรียมกล้องไว้ใกล้มือดูก็ดีนะคะ

ทำไมวันที่ 22 กุมภาพันธ์ถึงเป็น "วันแมว"?

ในประเทศญี่ปุ่น วันที่ 22 กุมภาพันธ์ถูกกำหนดเป็น "วันแมว" วันที่ระลึกนี้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1987 โดย "คณะกรรมการจัดตั้งวันแมวญี่ปุ่น" ร่วมกับสมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป ด้วยเป้าหมายที่จะให้เป็น "วันที่จะพบความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับแมวและสนุกสนานไปกับความสุขนี้" สาเหตุที่เลือกวันที่ 22 กุมภาพันธ์เป็นเพราะเล่นคำว่า "เนียน" ซึ่งเป็นการเลียนเสียงแมวร้องของญี่ปุ่นและคำอ่านญี่ปุ่นสำหรับ "2" ซึ่งมีเสียงคล้ายคลึงกันค่ะ

ในประเทศญี่ปุ่น มีสิ่งที่เรียกว่า "โกโระอาวาเสะ" (語呂合わせ / Goroawase - เสียงช่วยจำหรือการเล่นคำ) ที่เสียงบางอย่างจากสระญี่ปุ่นถูกกำหนดให้เข้าตัวเลขตั้งแต่ 0 ถึง 9 รวมถึง 10 และ 100 และเสียงเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับลำดับตัวเลขที่มีการออกเสียงคล้ายกันค่ะ ตัวเลข "2" ถูกกำหนดเสียงเช่น "に (นิ)", "つ (สึ, จาก 'Two')", "じ (จิ)", "ふ (ฟุ)" และในบรรดาการออกเสียงเหล่านี้ การเชื่อมโยงเสียง "に (นิ)" กับเสียงร้องของแมว "にゃん" (เนียน) จึงทำให้พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงกำหนดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ตัวเลข "2" ปรากฏมาก ให้เป็นวันแมวค่ะ

ในทางกลับกัน แนวคิดเกี่ยวกับเสียงช่วยจำหรือการเล่นคำนี้ไม่จำกัดเฉพาะที่ "วันแมว" แต่ยังเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น "วันภูเขาไฟฟูจิ" ถูกกำหนดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เพราะการเรียงของตัวเลข 2, 2 และ 3 สามารถอ่านเป็น "ฟุ-จิ-ซัน" ซึ่งก็มาจากเสียงช่วยจำค่ะ

ไม่เพียงแค่ในกรณีของวันครบรอบ แต่เมื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบประวัติศาสตร์ในโรงเรียน เสียงช่วยจำมักถูกใช้เพื่อจำปีที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์บางอย่างเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องจำว่าในปี ค.ศ. 710 เมืองหลวงของญี่ปุ่นถูกย้ายไปที่เมืองเฮโจเคียว ก็มักจะจำกันว่า "นันโตะ โอคินาเฮโจเคียว" (なんと大きな平城京 / Nanto Okina Heijo kyo - เฮโจเคียว ใหญ่อะไรปานนี้) ซึ่งก็มาจากการที่ตัวเลข 710 สามารถแบ่งเป็น 7 และ 10 ได้ และออกเสียงว่า "นา(น)" และ "โตะ/โท" ตามลำดับค่ะ

ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรม "วันแมว" ของญี่ปุ่น

ต่อไปเราจะมาดูการจัดงานและกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันแมวนี้ทั่วประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ

ในวันที่ 17 และ 18 กุมภาพันธ์ "เทศกาลแมวชิโยดะ 2024" ก็จัดขึ้นที่สำนักงานเขตชิโยดะในมหานครโตเกียวค่ะ ทุกปีในงานนี้ มีการบรรยายเกี่ยวกับโรคต่างๆ ของแมวและการอยู่ร่วมกับแมว ประสบการณ์ลองทำงานเป็นสัตวแพทย์ "ราคุโกะแมว" และกิจกรรมเวิร์คช็อปสำหรับเด็กค่ะ

ในอำเภอมานิวะ จังหวัดโอคายามะ "Neko Fest 2024" ก็จัดขึ้นในวันที่ 17 และ 18 กุมภาพันธ์ค่ะ ในงานนี้มีการแสดงผลงานภาพวาดและงานเครื่องเคลือบที่มีแมวเป็นธีม กิจกรรมเวิร์คช็อปสำหรับการทำของเล่นแมวและเข็มกลัดที่ให้ลองทำขึ้นเอง และการแนะนำกิจกรรมอาสาสมัครเกี่ยวกับแมวท้องถิ่นค่ะ

ลองไปเยี่ยมชมสถานที่จัดงานตามความสนใจดูก็ดีนะคะ

วัน "แมว" โลกและวันสัตว์ชนิดอื่น ๆ

เมื่อเราลองดูที่อื่นๆ ทั่วโลก จะพบว่าหลายประเทศในยุโรปจะฉลอง "วันแมว" ในวันที่ "17 กุมภาพันธ์" รัสเซียในวันที่ "1 มีนาคม" และสหรัฐฯในวันที่ "29 ตุลาคม" ค่ะ นอกจากนี้ในปี 2002 กองทุนสนับสนุนสัตว์ทั่วโลกก็ได้กำหนด "วันแมวโลก" ในวันที่ "8 สิงหาคม" ด้วยค่ะ

นอกจากนี้ยังมีวันที่ระลึกสำหรับ "มาเนคิเนโกะ" (แมวกวัก) ที่เราได้แนะนำไปก่อนหน้านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแมวญี่ปุ่น วันนี้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1995 โดยกลุ่มที่เรียกว่า "ชมรมแมวกวักแห่งญี่ปุ่น" โดยอิงจากการเล่นคำของ "来る福" (ku (9) ru・fuku (29) - โชคลาภเข้ามา) ทางชมรมได้กำหนดวันที่ 29 กันยายนเป็น "วันแมวกวัก" ค่ะ

นอกจากแมวแล้ว สัตว์หลากหลายชนิดมีวันครบรอบที่เป็นของตัวเอง ในญี่ปุ่น "วันสุนัข" คือวันที่ 1 พฤศจิกายน ("วัง-วัง-วัง", "วันสุนัขแห่งชาติ" ในสหรัฐฯ คือวันที่ 26 สิงหาคม), "สัปดาห์รักนก" คือวันที่ 10 ถึง 16 พฤษภาคม, "วันกระต่าย" ในญี่ปุ่นคือวันที่ 3 มีนาคม ("มิ-มิ"), "วันแฮมสเตอร์โลก" คือวันที่ 12 เมษายน (วันแฮมสเตอร์ของญี่ปุ่นคือวันที่ 6 สิงหาคม "ฮา-มุ"), "วันสัตว์โลก" คือวันที่ 4 ตุลาคม และอื่นๆ ค่ะ

ถึงตรงนี้ เราก็ได้นำเสนอหัวข้อเกี่ยวกับวัฒนธรรมแมวในประเทศญี่ปุ่น "วันแมว" ที่ถูกจัดตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และสุดท้าย หัวข้อที่หลากหลายเกี่ยวกับวันสำคัญของสัตว์ที่ไม่ใช่แค่แมวค่ะ ไม่ว่าคุณจะเลี้ยงแมวอยู่ที่บ้าน เป็นทาสแมวที่บ้าน อยู่ใกล้กับแมวจรแสนน่ารัก หรือรักแมวแต่ไม่สามารถเลี้ยงได้เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ อย่างข้อห้ามของบ้านพัก วันที่ 22 กุมภาพันธ์ก็เป็นวันที่เราทุกคนอยากจะ "ขอบคุณความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับแมว" กันค่ะ

อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับวันครบรอบและวันที่ระลึก

【วัฒนธรรมญี่ปุ่น】รวมวันครบรอบและ "วัน○○" ของญี่ปุ่น วันนี้เป็นวันอะไรเอ่ย?
【เวอร์ชั่นปี 2024】ก่อนมาเที่ยวญี่ปุ่นต้องดูไว้! รายละเอียดวันหยุดและช่วงหยุดยาวในญี่ปุ่น

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend