【ของอร่อยในญี่ปุ่น】ตระเวนล่าหาอาหารท้องถิ่นเกรด B: ฉบับ "นากาโน่"

【ของอร่อยในญี่ปุ่น】ตระเวนล่าหาอาหารท้องถิ่นเกรด B: ฉบับ นากาโน่

พื้นที่ประมาณ 80% ของจังหวัดนากาโน่เป็นป่า มียอดเขาที่มีชื่อเสียงมากมายรวมถึงเทือกเขาแอลป์ญี่ปุ่นด้วยค่ะ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น คามิโคจิและภูเขาชิโรอุมะ (ภูเขาฮาคุบะ) ก็ตั้งอยู่ในจังหวัดนากาโน่เช่นกัน จังหวัดนากาโน่ยังเป็นที่ตั้งของภูเขาที่สูง 3,000 เมตรขึ้นไปถึง 15 ลูกจากทั้งหมด 23 ลูกในญี่ปุ่น! แล้วในจังหวัดภูเขาที่เป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นเช่นนี้ มีวัฒนธรรมอาหารและอาหารท้องถิ่นแบบใดกันบ้างล่ะ?

"ของอร่อยเกรด B" คืออะไร?

นอกจากอาหารรสเลิศยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ทุกคนที่มาเยือนต้องไปลองรับประทานกันแล้ว ก็ยังมีของอร่อยในท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่แม้จะอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันค่ะ ของอร่อยเกรด B เป็นอาหารท้องถิ่นที่เป็นที่นิยมในหมู่คนท้องถิ่นและปรุงด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นโดยไม่ใช้เทคนิคหรือการตกแต่งที่หรูหราอะไรค่ะ

ลักษณะเฉพาะของอร่อยนากาโน่

ลักษณะเฉพาะของอร่อยนากาโน่

จังหวัดนากาโน่เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในญี่ปุ่นและเป็นจังหวัดที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ดังนั้นอาหารรสเลิศในจังหวัดนากาโน่จึงเกี่ยวข้องกับป่าไม้และผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักค่ะ

พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดกระจายไปทั่วที่ราบสูงที่ระดับความสูง 300-1,500 เมตร การเกษตรใช้ประโยชน์จากสภาพธรรมชาติที่มี เช่น อุณหภูมิที่แตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน และช่วงอุณหภูมิที่ต่างกันมากตามฤดูกาลต่าง ๆ ในเวลาหนึ่งปีค่ะ

นอกจากนี้ มาตรฐานการเกษตรได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการพัฒนาและการเผยแพร่เทคโนโลยีการเกษตรอย่างแข็งขัน จำนวนเกษตรกรมูลรวม (*1) ก็สูงที่สุดในญี่ปุ่น นอกจากนี้ การผลิตผักและผลไม้ก็เฟื่องฟู และปริมาณการผลิตของจังหวัดยังเป็นระดับชั้นนำของประเทศอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น วาซาบิ ผักกาดหอม ขึ้นฉ่ายฝรั่ง และเห็ดบูนาชิเมจิ ต่างก็ได้ผลผลิตสูงสุดในญี่ปุ่น (*2) ค่ะ

*1: จาก "สถิติของญี่ปุ่นปี 2022" โดยสำนักสถิติ กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร
*2: จาก “สถิติการผลิตและจัดส่งผักปี 2020” และ “วัสดุพื้นฐานผลิตภัณฑ์จากป่าพิเศษปี 2020” โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง

ของอร่อยเกรด B ของนากาโน่

ซันโซคุยากิ (ไก่ทอดโจรป่า)

ซันโซคุยากิ (ไก่ทอดโจรป่า)

พูดง่ายๆ ก็คือ "ไก่ชุบเกล็ดขนมปังทอด" ที่ทำโดยนำอกไก่หรือน่องไก้มาหมักโชยุกระเทียมและชุบแป้งทอด เป็นอาหารท้องถิ่นที่มีต้นกำเนิดในอำเภอมัตสึโมโตะและอำเภอชิโอจิริในจังหวัดนากาโน่ และปัจจุบันรับประทานกันทั่วจังหวัดค่ะ

มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของชื่อซันโซคุยากิ (山賊焼 - แปลว่า 'ไก่ย่างโจรป่า') ทฤษฎีหนึ่งระบุว่าผู้จัดการร้านอิซากายะ "ซันโซคุ" (山賊 / Sansoku) รุ่นแรกในอำเภอชิโอจิริมีลักษณะดุร้ายคล้ายโจรป่า ในขณะที่มีอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเขาตั้งชื่อเมนูว่า "ซันโซคุ" (โจรป่า) เพื่อให้มันน่าสนใจเพราะเป็นชื่อที่คนอื่นไม่ใช้กัน ว่ากันว่าหลังจากนั้น ซันโซคุยากิก็ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากจนถึงขั้นมีการเปลี่ยนชื่อร้านจาก "มัตสึโมโตะโชคุโด" เป็น "ซันโซคุ" ในภายหลังค่ะ

แล้วทำไมถึงเรียกว่า 'ยากิ' (焼き - ปิ้งหรือย่าง) แม้ว่าจะเป็นของทอด? ตามทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า น้ำมันสำหรับบริโภคนั้นหายากในประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น ดังนั้นจึงเป็นเหมือนการย่างเพียงเล็กน้อยในกระทะแบนที่มีน้ำมันเพียงเล็กน้อย ส่วนทฤษฎีอื่นกล่าวกันว่ามีการตั้งชื่อนี้แทนเนื่องจากการออกเสียงของไก่ทอดคือ "tori wo ageru" (鶏を揚げる - ทอดไก่) ซึ่งพ้องเสียงกับ "(mono wo) toriageru" ((物 を)取り上げる - แย่งชิง ชิงทรัพย์) ในแง่เดียวกับการที่โจรป่าปล้นทรัพย์สินค่ะ

ข้าวหน้าปลาแซลมอนชินชู

ข้าวหน้าปลาแซลมอนชินชู
รูปนี้เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น

เนื่องจากนากาโน่เป็นจังหวัดที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล การตกปลาและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแม่น้ำและทะเลสาบของจังหวัดจึงเป็นที่นิยมสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการประมงมาช้านาน ในปี ค.ศ. 1950 ได้มีการเริ่มเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ (ニジマス / Nijimasu) ขนาดใหญ่เพื่อเพาะพันธุ์ปลาที่เป็นผลิตภัณฑ์พิเศษประจำท้องถิ่นขึ้น ในปี ค.ศ. 1994 ปลาเรนโบว์เทราต์และปลาเทราต์สีน้ำตาลก็ถูกผสมข้ามสายพันธุ์ หลังจากความพยายามเป็นเวลา 10 ปี ในที่สุดสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า "ปลาแซลมอนชินชู" (信州サーモン / Shunshu Salmon) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นค่ะ

ปลาแซลมอนชินชูมีลำตัวสีเงินเหมือนปลาแซลมอนทั่วไปและเนื้อสีแดงสด เมื่อเทียบกับปลาแซลมอนจากฟาร์มในทะเลแล้ว ปลาแซลมอนชินชูมีไขมันต่ำกว่า โปรตีนสูงกว่า และมีคุณภาพคงที่

นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการเพาะเลี้ยงเป็นพิเศษและสามารถรับประทานเป็นซาซิมิได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องพยาธิ จึงได้รับการยอมรับให้เป็นตัวแทนของปลาชั้นสูงของจังหวัดนากาโน่ ที่จังหวัดนากาโน่ ร้านค้าที่มีธงสีส้มเขียนว่า "ชินชูแซลมอน" ก็เป็นสถานที่ที่คุณสามารถรับประทานแซลมอนชินชูได้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอำเภออาซุมิโนะค่ะ นอกจากซาชิมิแล้ว ข้าวหน้าปลาแซลมอนชินชูที่มีไขมันในปริมาณที่กำลังดีก็เป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่นเช่นกัน การปรุงรสและเครื่องเคียงจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ร้าน ดังนั้น ขอแนะนำให้ลองไปรับประทานและเปรียบเทียบดูหากมีโอกาสค่ะ

ฮอนวาซาบิเมชิ (ข้าววาซาบิแท้)

ฮอนวาซาบิเมชิ (ข้าววาซาบิของแท้)
รูปนี้เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น

วาซาบินั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ วาซาบิตะวันตก ซึ่งเป็นพันธุ์ตะวันตก และ ฮอนวาซาบิ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น วาซาบิจากจังหวัดนากาโน่ไม่เพียงแต่มีสีสันสดใสและมีกลิ่นหอมเท่านั้น แต่เมื่อนำไปขูดและรับประทาน วาซาบิจะมีความเผ็ดฉุนจนทำให้จมูกของคุณรู้สึกซ่าในตอนแรก แล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นรสหวานค่ะ

อันที่จริง อำเภออะซุมิโนะในจังหวัดนากาโน่เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตวาซาบิชั้นนำของญี่ปุ่น นางาโนะซึ่งมีวาซาบิที่ผลิตได้มากที่สุดของญี่ปุ่น (*3) มีของอร่อยเกรด B ที่ใช้วาซาบิเป็นส่วนประกอบหลักด้วยค่ะ ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น "Daio Wasabi Farm" (大王わさび農場) ในอำเภออะซุมิโนะได้ปรับปรุงวาซาบิหลายครั้งและผลิต "ฮอนวาซาบิเมชิ" (本わさび飯 / Hon-wasabi Meshi) ประกอบด้วยข้าวสวยร้อน ๆ สาหร่ายโนริ ปลาโอแห้งขูดฝอย ต้นหอมเนกิ และวาซาบิสดซึ่งเป็นตัวเอกค่ะ โดยปกติแล้ววาซาบิจะมีบทบาทเป็นตัวประกอบ แต่ในเมนูนี่ วาซาบิคือตัวเอกที่ไม่สามารถถูกแทนที่ได้ค่ะ หากคุณต้องการเพลิดเพลินกับรสชาติที่สดใหม่ ไปลองข้าววาซาบิแท้ดูค่ะ!

*3: คำนวณจากปริมาณการผลิตรวมของวาซาบิน้ำและวาซาบิสด จาก "การสำรวจสถิติอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้พิเศษปี 2021" โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง 

ของหวานเกาลัด

ของหวานเกาลัด
รูปนี้เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น

จังหวัดนากาโน่ยังเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแหล่งผลิตเกาลัด (栗 / Kuri / คุริ) "โอะบุเสะกุริ" และ "ชินชูอินะกุริ" ก็มีชื่อเสียงเป็นพิเศษ ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ก็มีความหวานเข้มข้นและรสชาติที่เข้มข้นทั้งคู่เลยค่ะ

"โอะบุเสะคุริ" ได้รับการตั้งชื่อตามพื้นที่การผลิต "เมืองโอะบุเสะ" ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า เกาลัดชนิดนี้ได้รับการปลูกในโอะบุเสะมาตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ (ค.ศ. 1336-1573) มีคุณภาพสูงทำให้มีชื่อเสียงและถูกนำไปมอบให้กับรัฐบาลสำเร็จราชการโดยโชกุนแห่งสมัยเอโดะค่ะ

ในทางกลับกัน "ชินชูอินะกุริ" เริ่มเพาะปลูกในปี 2003 เนื่องจากสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยของพื้นที่เพาะปลูกหุบเขา "อินะดานิ" ทางตอนใต้ของจังหวัดนากาโน่ การปรับปรุงและการจัดการเทคนิคการเพาะปลูกอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ โดยบริษัทแปรรูปอาหารและร้านขนมหวาน เกาลัดชินชูอินะจึงได้รับความนิยมเทียบเท่ากับเกาลัดโอะบุเสะเลยค่ะ

นอกจากการซื้อที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายสินค้าเกษตรแล้ว เรายังขอแนะนำให้ไปเยี่ยมชมพื้นที่การเพาะปลูกในฤดูใบไม้ร่วง ไม่เพียงแต่จะมีเกาลัดที่สดใหม่เท่านั้น แต่คุณยังสามารถเพลิดเพลินกับขนมหวานที่ทำจากเกาลัด เช่น คุริคินตง ขนมปังไส้เกาลัด (คุริอังปัง) ไปจนถึงมองบลังค์ค่ะ!

อินาโกะโนะสึคุดานิ (ตั๊กแตนเคี่ยวโชยุหวาน)

อินาโกะโนะสึคุดานิ (ตั๊กแตนเคี่ยวโชยุหวาน)

แม้ว่าจะยังนับเป็น "อาหารเกรด B" ซึ่งมีคำจำกัดความว่าราคาถูกและสามารถรับประทานได้ทุกวัน แต่พื้นที่รอบๆ "อินาดานิ" มีประวัติการกินแมลงอย่างตั๊กแตนและตัวอ่อนผึ้งมาแต่ช้านาน หนึ่งในอาหารจากแมลงท่พบกันทั่วไปก็คือ “อินาโกะโนะสึคุดานิ” (イナゴの佃煮 / inago no tsukudani) ซึ่งทำโดยปล่อยตั๊กแตนไว้ข้ามคืนเพื่อระบายของเสียออกทั้งหมด ต้มให้ร้อนในน้ำเดือด จากนั้นต้มกับโชยุและน้ำตาลค่ะ

อินาโกะโนะสึคุดานิ อาจต้องใช้ความกล้าในการรับประทาน แต่ในจังหวัดภูเขาอย่างนากาโน่ แมลงก็เคยเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ตัวหลักค่ะ การกินตั๊กแตนและศัตรูพืชอื่น ๆ ไม่เพียงแต่ปกป้องต้นข้าวเท่านั้น แต่ยังให้คุณค่าทางโภชนาการ เหมือนเป็นการยิงปืนนัดเกียวได้นกสองตัวเลยค่ะ!

ในความเป็นจริงแล้ว "อาหารแมลง" ที่มีโปรตีนสูงได้รับความสนใจในญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา MUJI เองก็ได้เปิดตัว "ข้าวเกรียบจิ้งหรีด" และ "ช็อกโกแลตจิ้งหรีด" และมีร้านอาหารแมลงไขมันต่ำโปรตีนสูงที่ชิบูย่า โตเกียว แม้แต่เครื่อง gacha-gacha ที่มีอาหารแมลงก็ปรากฏตัวเช่นกันค่ะ!

บทความที่เกี่ยวข้องกับของอร่อยเกรด B

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend