【รวมรวม 47 จังหวัดของญี่ปุ่น: โทยามะ】ยาสามัญประจำบ้าน ราเม็งสีดำ... ของดังที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของโทยามะมีอะไรบ้าง?

  • 2 มกราคม 2024
  • 5 กุมภาพันธ์ 2024
  • Asami Koga

ญี่ปุ่นมีทั้งหมด 47 จังหวัด

เช่นเดียวกับที่ภูมิทัศน์เมือง กิจกรรม และของอร่อยก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ลักษณะจำเพาะของคนในท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป ในซีรี่ส์นี้ เราจะเจาะลึกถึงสถานการณ์ในท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดโดยแนะนำเสน่ห์ของแต่ละจังหวัดและสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาให้ทราบกันค่ะ

ในครั้งนี้ เราจะมาโฟกัสไปกันที่จังหวัดโทยามะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมในภูมิภาคโฮคุริคุ มาเรียนรู้เกี่ยวกับโทยามะที่เต็มไปด้วยความงามของภูมิทัศน์และกิจกรรมบ่อน้ำร้อน เช่น เส้นทางอัลไพน์ทาเตยามะคุโรเบะ หมู่บ้านโกะกะยามะซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นมรดกโลกร่วมกับชิราคาวาโกะ และอุนาซึกิออนเซ็นกันค่ะ!

© องค์การท่องเที่ยวโทยามะ

อัตราการครอบครองบ้านและรถที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ในญี่ปุ่น! โทยามะเป็นที่รู้จักเรื่องการใช้จ่ายอย่างฟู่ฟ่าในงานแต่งงาน งานศพ และเรื่องครอบครัว

บ้านเดี่ยวที่กว้างขวางตั้งอยู่มากมายในภูมิภาคโฮคุริคุ ในบรรดาจังหวัดเหล่านี้ โทยามะก็เป็นที่รู้จักในเรื่องอัตราการครอบครองบ้านที่สูงมากค่ะ

จากการสำรวจประชากรระดับชาติเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 จนถึง ค.ศ. 2015 อัตรา "การครอบครองบ้าน" ของจังหวัดโทยามะ (สัดส่วนของเจ้าของบ้านในหมู่ครัวเรือนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในย่านที่อยู่อาศัย) ติดอันดับสูงสุดในประเทศญี่ปุ่นค่ะ

แม้ว่าอัตราการครอบครองบ้านจะลดลงในอันดับตั้งแต่ปี 2018 แต่ในปี 2021 อัตราการครอบครองบ้านก็ยังคงสูงถึง 76.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศที่ 61.2% อย่างมากค่ะ

อัตราการครอบครองบ้านที่สูงนี้เกิดจากไม่เพียงแค่ราคาที่ดินที่ถูกและการมีครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานทั้งสามีภรรยาเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากความเชื่อที่แน่วแน่ในธรรมเนียมนิยมของชาวโทยามะที่ว่า "การเป็นเจ้าของบ้านเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นผู้ใหญ่" วลี "เอ็ตชูโนะฮิตตสึโนโคชิ" (越中の一つ残し / Etchu no hitotsu nokoshi) ซึ่งหมายถึง "เหลือทรัพย์สินหนึ่งอย่างเช่นบ้านหรือที่ดินไว้" ได้ถูกใช้กันในโทยามะมานานแล้ว และสื่อถึงลักษณะของคนในจังหวัดโทยามะอย่างเหมาะสมค่ะ ในความเป็นจริง มีบ้านเดี่ยวที่ใหญ่และหรูหราจำนวนมากในจังหวัดโทยามะ และในปีงบประมาณ 2015 ก็ได้รับอันดับหนึ่งในการเปรียบเทียบกับทั่วประเทศญี่ปุ่นเรื่อง "พื้นที่โดยรวมต่อหน่วยที่อยู่อาศัย" ด้วยพื้นที่เฉลี่ยที่ 152.18 ตารางเมตรค่ะ

นอกจากนี้ในปี 2021 จังหวัดนี้ยังอยู่ในอันดับที่ 2 ของจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลต่อครัวเรือน ชาวจังหวัดโทยามะยังใช้เงินเกือบ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่นในการซื้อของขวัญให้แก่ผู้มาเยี่ยมเชิญในงานแต่งงานและงานศพ เช่น ของที่ระลึกงานแต่งงาน ซึ่งแสดงถึงอุปนิสัยที่ชอบโชว์ความฟู่ฟ่าของชาวโทยามะค่ะ

นอกจากนี้เมื่อสร้างหลุมศพ ชาวโทยามะจะสร้างให้ใหญ่และให้โถบรรจุกระดูกอยู่เหนือพื้นดินเพื่อป้องกันน้ำซึมเข้ามาเนื่องจากฝนหรือหิมะกันค่ะ ดูเหมือนว่าชาวโทยามะจะใช้เงินค่อนข้างมากในงานศพด้วย แถมยอมจ่ายไม่อั้นในเรื่องการซื้อสินค้าในครัวเรือน งานครอบครัว และงานแต่งงานและงานศพ นั่นคือความหรูหราแบบชาวโทยามะค่ะ

เหตุการณ์ปวดท้องปราสาทเอโดะคือสาเหตุที่ทำให้ "ยาของโทยามะ" มีชื่อเสียงขึ้นมา!

© องค์การท่องเที่ยวโทยามะ

คุณคิดถึงอะไรเมื่อได้ยินคำว่า "จังหวัดโทยามะ"?

เมื่อพูดถึงโทยามะ ภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์ที่งดงามและน้ำพุร้อนออนเซ็น เช่น กำแพงหิมะยักษ์ "ยูกิโนะโอทานิ" (雪の大谷 / Yuki no Otani - กำแพงหิมะตามริมถนน) บนเส้นทางอัลไพน์ทาเตยามะคุโรเบะ เขื่อนคุโรเบะ และอุนาซึกิออนเซ็นก็เด่นชัดในใจหลายๆ คนสินะคะ อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วโทยามะเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นในฐานะ "เมืองแห่งยา" และ "ยาสามัญประจำบ้านของโทยามะ" (置き薬 / Okiyaku - ยาที่ซื้อขายได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งจากแพทย์) มีประวัติศาสตร์มากกว่า 300 ปี แม้ในปัจจุบัน ยังมีผู้ผลิตยาและโรงงานจำนวนมากในจังหวัด และหน้าสถานี JR Toyama ยังมีรูปปั้นเด็กๆ ที่ไล่ตามผู้ขายยาสามัญประจำบ้าน และเด็กสาวที่ดีใจที่ได้รับลูกโป่งกระดาษตั้งอยู่ด้วยค่ะ

เหตุผลที่โทยามะมีชื่อเสียงเพราะยานั้นมีต้นกำเนิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปราสาทเอโดะในฤดูหนาวของปี 1690 หรือปีเก็นโรคุที่ 3 ในเวลานั้น มาเอดะ มาซาโตชิ ผู้ครองแคว้นโทยามะรุ่นที่ 2 กำลังเข้าร่วมงานที่ปราสาทเอโด้ ก็มีผู้ครองแคว้นอื่นรายหนึ่งเกิดปวดท้องอย่างรุนแรง ในตอนนั้น ผู้ครองแคว้นคนนั้นได้หายอย่างมหัศจรรย์จากการรับประทาน "ฮันกอนตัน" (反魂丹 / Hangon-tan) ยาวิเศษจากโทยามะ ซึ่งมาซาโตชิได้พกติดตัวไว้ ผู้ครองแคว้นคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ประหลาดใจและขอให้มาซาโตชิขายยานี้ในแคว้นของพวกเขาด้วย "เหตุการณ์ปวดท้องปราสาทเอโด้" นี้ได้นำไปสู่การแพร่หลายของ "ยาโทยามะ" ไปทั่วประเทศญี่ปุ่นค่ะ

ในเวลานั้น แคว้นโทยามะเองก็กำลังประสบปัญหาด้านการเงินเนื่องจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และการบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามมา ดังนั้นมาซาโทชิจึงตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำร้องขอของเหล่าผู้ครองแคว้นต่างๆ และเริ่มต้นการขายยาในฐานะพ่อค้าเร่ทั่วประเทศค่ะ

© องค์การท่องเที่ยวโทยามะ

ระบบการขายยาของโทยามะที่รู้จักกันในนาม "เซ็นโยโคริ" (先用後利 / Senyoukouri - จ่ายหลังจากใช้) มีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งพ่อค้าจะมอบยาให้กับลูกค้าก่อน แล้วจึงเข้าไปเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บเงินเฉพาะค่ายาส่วนที่ถูกใช้ไปเท่านั้น ในยุคนั้น คนทั่วไปมักจะพบความยากลำบากในการเก็บยาหลายประเภทไว้ เนื่องจากการดูแลสุขภาพยังไม่แพร่หลายและไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่จะต้องใช้ยาตัวไหนค่ะ ระบบนี้ซึ่งอนุญาตให้เก็บยาหลายประเภทไว้ที่บ้านและจ่ายเงินเฉพาะส่วนที่ใช้ไป จึงสะดวกและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากคนในภูมิภาคต่างๆ กันค่ะ

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่มีความไว้วางใจก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้นเมื่อพ่อค้าเร่ไปเยี่ยมชมทุกครัวเรือนเป็นประจำ และไม่น่าแปลกใจที่พ่อค้าและแต่ละครัวเรือนจะมีความสัมพันธ์เหมือนกับญาติพี่น้อง การที่มีรูปปั้นทองแดงของเด็กสาวที่ยินดีเมื่อได้รับลูกโป่งกระดาษจากพ่อค้ายาที่สถานีโทยามะก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงข้อนี้อย่างดีค่ะ

ในทางกลับกัน ระบบ "เซ็นโยโคริ" ของโทยามะในการให้ยาเก็บไว้ประจำที่บ้านแบบนี้ ในปัจจุบันกำลังดำเนินการทั่วประเทศโดยบริษัทยาต่างๆ และยังถูกนำมาใช้ในวิธีการตลาดอื่นๆ อีกด้วยค่ะ

จริงๆ แล้วมีทั้งข้อดีและข้อเสีย! แม้แต่ชาวบ้านยังคิดว่า "ราเมนดำโทยามะเค็มเกินไป"⁉

© องค์การท่องเที่ยวโทยามะ

เมื่อพูดถึงอาหารเลิศรสที่เป็นตัวแทนของโทยามะ "ราเมนดำโทยามะ" ก็เป็นอะไรที่คนนึกถึงกันค่ะ

ราเมนท้องถิ่นนี้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Toyama Black" ได้เกิดขึ้นในอำเภอโทยามะ จังหวัดโทยามะ ประมาณปี ค.ศ. 1955 (ปีโชวะที่ 30) มีลักษณะเด่นคือซุปสีดำทึบที่ทำจากโชยุที่ต้มเป็นเวลานาน โดยมีพริกไทยบดหยาบและต้นหอมปริมาณมากที่ถูกสับลงไปผสมเพื่อเพิ่มรสชาติที่เข้มข้น นอกจากนี้ ความหวานของเนื้อสันในหมูติดมันก็เป็นลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งค่ะ

แรกเริ่มเดิมที ว่ากันว่าราเม็งโชยุที่มีน้ำซุปเข้มข้นนี้ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นการทดแทนเกลือแร่สำหรับผู้ทำงานที่ต้องใช้แรงงานหนักและเหงื่อออกมาก มันถูกตั้งสมมุติฐานว่าจะรับประทานร่วมกับข้าว น้ำซุปจึงมีรสเค็มค่ะ (ในเวลานั้น เป็นเรื่องปกติสำหรับลูกค้าที่จะนำข้าวของตัวเองมารับประทานกับน้ำซุปราเม็ง)

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีร้านราเม็งดำมากมายในจังหวัดโทยามะ และมีร้านยอดนิยมเช่น Menya Iroha ซึ่งได้รับอันดับที่ 1 ใน "Tokyo Ramen Show" ติดต่อกัน แต่รสชาติที่ทรงพลังนั้นจริงๆ แล้วก็เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ชาวโทยามะค่ะ

ในขณะที่มีเสียงเชิงบวกที่กล่าวว่า "กลิ่นแรงของพริกไทยกระตุ้นความอยากอาหาร" และ "รสเค็มที่แรงนั้นอร่อย" แต่ในทางกลับกันยังมีความเห็นเชิงลบเช่น "แบบนั้นน่ะเค็มเกินไป" และ "ถ้ามาที่โทยามะ ก็ควรไปทานซูชิก่อนราเม็งดำ"...

และยังน่าแปลกใจตรงที่ว่าหากคุณค้นหาคำว่า "ราเม็งดำโทยามะ" ในภาษาญี่ปุ่น (富山ブラックラーメン) ด้วย Search Engine คำว่า "เค็ม" (しょっぱい) จะปรากฏขึ้นพร้อมกับชื่อของร้านค้าที่มีชื่อเสียงและร้านค้าสาขาในวลีค้นหาที่แนะนำค่ะ

"ราเม็งดำโทยามะ" มีลักษณะเด่นด้วยซุปโชยุดำที่มันวาวและความเค็มที่ยังคงอยู่จากปริมาณพริกไทยดำที่ใส่มาแบบจัดเต็ม ไม่ว่าคุณจะรู้สึกว่ามันอร่อยหรือไม่ ลองไปชิมรสชาติที่แท้จริงแล้วตัดสินใจดูเองนะคะ!

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend