เกาะแห่งภูเขาไฟ มารู้จักภูเขาไฟจำนวนมากของญี่ปุ่นกัน

  • 24 กุมภาพันธ์ 2022
  • Lily Baxter
  • Mon

เกาะแห่งภูเขาไฟ มารู้จักภูเขาไฟจำนวนมากของญี่ปุ่นกัน

ด้วยสัญลักษณ์ประจำชาติเป็นภูเขาไฟฟูจิที่เป็นเสมือนตัวแทนของภูเขาไฟมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ญี่ปุ่นจะมีภูเขาไฟหลายร้อยลูก แต่คุณอาจจะแปลกใจกว่าที่พบว่าภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่นั้นก็มีมากกว่าร้อยลูกเช่นกัน ภูเขาไฟช่วยสร้างความร้อนให้น้ำพุร้อนและยังสร้างพื้นที่ปีนเขาและเล่นสกีที่ยอดเยี่ยม ภูเขาไฟส่วนใหญ่นั้นเป็นภูเขาไฟสงบ แต่ภูเขาบางแห่งก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ประเทศเกาะอย่างญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นมากกว่าประเทศอื่น ๆ และคิดเป็นประมาณ 10% ของจำนวนภูเขาไฟทั่วโลก เนื่องจากมีจำนวนการปะทุที่บันทึกไว้มากที่สุด ผู้เข้าชมจึงจำเป็นต้องทราบขั้นตอนฉุกเฉินที่นี่มากกว่าเวลาไปที่ประเทศอื่นค่ะ

ทำไมญี่ปุ่นถึงมีภูเขาไฟมากมาย?

ทำไมญี่ปุ่นถึงมีภูเขาไฟมากมาย?

ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เรียกว่า 'วงแหวนแห่งไฟแปซิฟิก' และอยู่ที่จุดเชื่อมต่อของแผ่นเปลือกโลกสี่แผ่น โดยมีแนวภูเขาไฟหลักห้าส่วน อันได้แก่ แนวภูเขาไฟฮอนชูตะวันออกเฉียงเหนือและแนวภูเขาไฟ Kurile ทางตอนเหนือ แนวภูเขาไฟอิสุ-โบนิน-มาริอาน่าที่อยู่ทางตอนกลาง และแนวภูเขาไฟริวกิวและแนวภูเขาไฟฮอนชูตะวันตกเฉียงใต้ที่อยู่ทางตอนใต้ การปะทุของภูเขาไฟที่บันทึกไว้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือปี ค.ศ. 553 จากภูเขาไฟอะโสะ โดยการปะทุที่ใหญ่ที่สุดเกิดจากภูเขาไฟโทวาดะในปี 915

ภูเขาไฟและหุบเขานรก

ภูเขาไฟและหุบเขานรก

หุบเขานรกถูกเรียกว่าจิโกคุดานิ (地獄谷 / Jigoku-dani) ในภาษาญี่ปุ่นและหมายถึงพื้นที่ภูเขาไฟที่มีปล่อยไอระอุและภูมิประเทศที่แสนน่าประทับใจซึ่งมักดึงดูดผู้มาเยือน หุบเขานรกที่มีชื่อเสียงที่สุดบางแห่งก็ได้แก่ สวนลิงจิโกคุดานิ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องลิงที่ชอบมาแช่ออนเซ็น บ่อนรกทั้งแปดแห่งเบปปุ และหุบเขานรกโนโบริเบทสึในฮอกไกโด

ภูเขาไฟขึ้นชื่อในญี่ปุ่น

ภูเขาไฟขึ้นชื่อในญี่ปุ่น

นอกจากภูเขาไฟฟูจิแล้ว ยอดเขาขึ้นชื่อของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟซึ่งมีระดับการคุกรุ่นแตกต่างกันไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำคัญ สถานที่เดินป่า หรือที่ตั้งของลานสกี ภูเขาไฟเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของภูมิทัศน์ของญี่ปุ่นค่ะ

ภูเขาชิราเนะ จังหวัดกุนมะ (คุกรุ่น)

ภูเขาอลังการน่าประทับใจใกล้ ๆ เมืองน้ำพุร้อนคุซัตสึยอดนิยม ภูเขาชิราเนะ (白根山 / Shirane-san) เป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอีกลูกหนึ่งในญี่ปุ่น การปะทุครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2018 โดยมีผู้เสียชีวิต 1 รายจากเหตุแผ่นดินถล่ม ปล่องภูเขาไฟยูกามะมีสีฟ้าอ่อนที่สวยงามและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม โดยมีการจำกัดการเข้าถึงด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่นอกจากเรื่องนั้นแล้ว การปีนเขาก็สะดวกง่ายดาย ด้วยกระเช้าลอยฟ้าและเส้นทางขับรถชมวิวที่จะช่วยให้ไปถึงยอดได้สะดวก (เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าชม) เมืองคุซัทสึที่อยู่ใกล้เคียงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยมีน้ำพุร้อนที่ได้รับร้อนจากภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่นอยู่เบื้องล่างค่ะ

ภูเขาไฟฟูจิ จังหวัดยามานาชิและจังหวัดชิสุโอกะ (คุกรุ่น)

สัญลักษณ์ประจำชาติของญี่ปุ่น รูปทรงที่สมบูรณ์แบบของภูเขาไฟฟูจิ (富士山 / Fuji-san) นั้นเป็นรูปทรงคลาสสิกของภูเขาไฟและเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นด้วยความสูง 3776 เมตร การปะทุครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1707 ซึ่งก็หมายความว่า การปีนขึ้นไปบนยอดเขาก็เป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตแล้วและเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ภูเขานี้มักถูกปกคลุมด้วยหิมะที่ด้านบน จึงมีการอนุญาตให้ขึ้นเขาได้เฉพาะระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมของทุกปีเท่านั้น

ภูเขาไดเซ็น จังหวัดทตโตริ

ภูเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคชูโกคุ ภูเขาไดเซ็น (大山 / Daisen) เป็นจุดเดินป่ายอดนิยมในอุทยานแห่งชาติไดเซ็น-โอกิ (大山隠岐国立公園 / Daisen-Oki National Park) ไม่มีการปะทุมานับพันปี จึงเป็นเส้นทางปีนเขาที่ปลอดภัยและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้านความสำคัญทางจิตวิญญาณ โดยมีวัดในศาสนาพุทธและศาลเจ้าชินโตอยู่ตามไหล่เขา สันเขามียอดเขาหลายยอด ได้แก่ ยอดเขามิเซ็น (味仙 / Misen) ยอดเขาเคงกามิเนะ (剣ヶ峰 / Kengamine) และยอดเขาโนดากาเซ็น (野田ヶ山 / Nodagasen) เป็นพื้นที่เดินป่าปีนเขายอดนิยมโดยเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วงที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเยือนค่ะ

ภูเขาไฟอะโสะ ภูมิภาคคิวชู (คุกรุ่น)

ภูเขาอะโสะ (阿蘇山 / Aso-san) ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในแอ่งภูเขาไฟ (ปล่องภูเขาไฟ) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอีกแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น การปะทุครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2021 โดยมีการปะทุครั้งก่อนในปี 2016 แอ่งภูเขาไฟที่น่าประทับใจมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เมตรและมีเส้นรอบวง 100 เมตร โดยผู้เยี่ยมชมสามารถเยี่ยมชมยอดเขาในแอ่งภูเขาไฟก่อนหน้านี้ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปะทุครั้งล่าสุด พื้นที่บริเวณดังกล่าวจึงถูกปิดไปเพื่อความปลอดภัย

ภูเขาไฟซากุระจิมะ จังหวัดคาโกชิม่า (คุกรุ่น)

ภูเขาไฟซากุระจิมะ (桜島 / Sakurajima) เป็นภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่บ่อยครั้งที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นจากปล่องภูเขาไฟอย่างต่อเนื่องและมีการปะทุเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำแทบทุกวัน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีการปะทุครั้งใหญ่ภายใน 30 ปีข้างหน้า ภูเขาไฟเป็นสัญลักษณ์ของเมืองและมีความสูง 1117 เมตร ตั้งอยู่ตรงกลางอ่าวคาโกชิม่า ก่อนการปะทุที่รุนแรงในปี 1914 ภูเขาไฟเคยเป็นเกาะไม่เชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ แต่ลาวาที่ไหลจากการปะทุทำให้เกิดสะพานเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ แต่ถึงกระนั้นเรือข้ามฟากก็ยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยม ภูเขาไฟสามารถมองเห็นได้จากจุดสังเกต แต่ผู้คนไม่สามารถเข้าไปภายใน 2 กม. จากปากปล่องภูเขาไฟได้

การปะทุครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น

การปะทุครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น

แม้ว่าภูเขาไฟหลายแห่งเป็นภูเขาไฟสงบหรือไม่ถือว่าเสี่ยงต่อผู้มาเยือน แต่ก็มีการปะทุครั้งสำคัญหลายครั้งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ในขณะที่การปะทุบางครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยตรง หลายครั้งก็ยังได้ก่อให้เกิดสึนามิทำให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรง

ภูเขาอาซามะ จังหวัดกุนมะ - ปี 1108 เป็นต้นมา

ภูเขาไฟที่ยังปะทุมากที่สุดบนเกาะฮอนชูซึ่งเป็นเกาะหลักของญี่ปุ่น ภูเขาอาซามะ (浅間山 / Asama-yama) เป็นภูเขาไฟที่จัดเป็นประเภท A ในระบบเตือนภัยของญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของจุดสังเกตการณ์ภูเขาไฟของมหาวิทยาลัยโตเกียว และเป็นจุดสนใจหลักของการศึกษาภูเขาไฟเนื่องมาจากมีประวัติการปะทุที่รุนแรง การปะทุสมัยปีเทนนินในปี ค.ศ. 1108 เชื่อกันว่าส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศไปไกลจนถึงฝั่งทวีปยุโรปเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น รวมทั้งก่อให้เกิดความอดอยากครั้งใหญ่ เชื่อกันว่ามีความรุนแรงเป็นสองเท่าของการปะทุสมัยปีเท็นเมในปี ค.ศ. 1783 ในปีนั้นการปะทุของภูเขาไฟแบบพลิเนียนเป็นเวลาสามเดือนได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,500 คนโดยตรง และยังเชื่อว่ากว่า 20,000 คนเสียชีวิตจากความอดอยากรุนแรงที่ตามมาในปีต่อ ๆ มา มีการปะทุในยุคปัจจุบันเช่นกัน ในปี 1982 ปี 1983 โดยในปี 1995 ยังมีการตรวจพบแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 ครั้งรอบ ๆ ภูเขาไฟ และมีการปะทุครั้งล่าสุดในปี 2019 การปะทุของภูเขายืนยาวตลอดทั้งประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของญี่ปุ่นเลยทีเดียว โดยเริ่มต้นในปี 685

ภูเขาฮิกาชิและภูเขานิชิ เกาะโอชิมะ จังหวัดฮอกไกโด - ปี 1741

แอ่งภูเขาไฟคู่บนเกาะร้างไร้ผู้คนอยู่อาศัย ภูเขาไฟแห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดของการปะทุครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 18 สึนามิที่เกิดขึ้นที่ชายฝั่งฮอกไกโด ฮอนชูตะวันตก และแม้แต่เกาหลี ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,500 คน การปะทุครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1790 โดยมีการปะทุอื่น ๆ ถูกตรวจวัดได้ในปี 1996 เกาะนี้ไม่สามารถเยี่ยมชมได้ โดยมีการอนุญาตเฉพาะการสำรวจทางวิทยาศาสตร์บ้างเท่านั้น

ภูเขาอุนเซ็น จังหวัดนางาซากิ - ปี 1792 และปี 1991

ภูเขาอุนเซ็น (雲仙岳 / Unzen-dake) ซึ่งเป็นแนวทับซ้อนของภูเขาไฟแบบสตราโตเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟสูงที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1792 โดมลาวาได้พังลง ส่งผลให้เกิดสึนามิครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 14,000 คน จากนั้นก็สงบนิ่งเป็นเวลาหลายปี ภูเขาไฟนี้กลับมาเริ่มปะทุอีกครั้งระหว่างปี 1990 ถึง 1995 โดยมีการปะทุครั้งใหญ่ในปี 1991 คร่าชีวิตผู้คนไป 43 คน ยอดเขาที่สูงที่สุดคือเฮเซ-ชินซัง (平成新山 / Heisei-Shinzan) ซึ่งก่อตัวขึ้นในช่วงการปะทุในปี 1990 (ในยุคเฮเซ)

ภูเขาบันได จังหวัดฟุคุชิมะ - ปี 1888

ภูเขาบันได (磐梯山 / Bandai-san) ภูเขาไฟแบบสตราโตอีกแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่ถูกบรรจุลงเป็นหนึ่งในร้อยภูเขาขึ้นชื่อแห่งญี่ปุ่นและมีสถานะเป็นอุทยานธรณี ภูเขาไฟลูกนี้ปะทุมาเกือบ 300,000 ปีแล้ว โดยมีการปะทุครั้งสำคัญที่สุดในปี ค.ศ. 1888 โดยได้ทำให้หมู่บ้าน 5 แห่งถูกฝังใต้ลาวาและมีผู้เสียชีวิต 477 ราย เป็นภัยพิบัติครั้งแรกภายใต้รัฐบาลญี่ปุ่นยุคใหม่แห่งสมัยเมจิ และได้รับการบันทึกและตรวจสอบอย่างรอบคอบ วันนี้เป็นภูเขาสำหรับการปีนเขายอดนิยมและไม่ถือว่าเป็นอันตราย

เกาะโทริชิมะ หมู่เกาะอิสุ - ปี 1902

ความหมายคือ เกาะนก โทริชิมะ (鳥島 / Torishima) เป็นเกาะที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในหมู่เกาะอิสุ เกาะนี้เกิดจากภูเขาไฟใต้ทะเลที่ยังคุกรุ่นอยู่ โดยมียอดเขาอยู่ที่ความสูง 394 เมตร เดิมทีเป็นที่อยู่อาศัยของลูกเรือที่เรืออับปางเท่านั้น จึงมีผู้คนอยู่อาศัยในสมัยเมจิ มีนกอัลบาทรอสสร้างแหล่งทำมาหากินของผู้อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1902 ประชากรทั้งหมดของเกาะต้องจบชีวิตลงจากการปะทุ และเกาะนี้ก็ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การดูนกเป็นกิจกรรมยอดนิยมสำหรับเกาะนี้ แต่นักท่องเที่ยวสามารถชมได้ทางเรือเท่านั้น

ภูเขาออนทาเกะ จังหวัดนางาโนะ - ปี 2014

ภูเขาไฟที่สูงเป็นอันดับสองและภูเขาที่สูงเป็นอันดับที่ 14 ของญี่ปุ่น ภูเขาออนทาเกะ (御嶽山 / Ontake-san) เป็นเส้นทางเดินป่ายอดนิยมแต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกมองไปในเชิงภัยพิบัติด้านภูเขาไฟปะทุอันน่าสลดใจ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2014 ภูเขาไฟเกิดปะทุขึ้นในช่วงฤดูกาลปีนเขาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า เนื่องจา่กเป็นเส้นทางเดินป่าแบบสบาย ๆ และอยู่ในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง จึงมีคนหลายร้อยคนอยู่บนภูเขาในขณะนั้น โดยมีผู้เสียชีวิต 58 รายและสูญหาย 5 ราย

ระบบเตือนภัยภูเขาไฟของญี่ปุ่น

ระบบเตือนภัยภูเขาไฟของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีระบบเตือนภัยภูเขาไฟที่ครอบคลุมเพื่อแจ้งให้ผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงทราบถึงภัยจากภูเขาไฟที่อาจเกิดขึ้นโดยระบบนี้มีใช้อยู่บริเวณพื้นที่รอบ ๆ ปากปล่องภูเขาไฟและพื้นที่อยู่อาศัยใกล้เคียง โดยมีการออกพยากรณ์ภูเขาไฟด้วย เมื่อมีการออกคำเตือน จะมีการแจ้งไปยังสถานีแพร่ภาพสาธารณะ เช่น NTT หรือ NHK ไปจนถึงหน่วยรับมือเหตุฉุกเฉิน เช่น ตำรวจ รถดับเพลิง รถพยาบาล และหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว และหน่วยยามฝั่งของญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้จะแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยและเรือต่าง ๆ ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ

ระบบเตือนภัยภูเขาไฟ

มี 5 ระดับ โดยแบ่งออกเป็นสามประเภท: การพยากรณ์ (ระดับ 1) การเตือน (ระดับ 2 และ 3) และการเตือนฉุกเฉิน (ระดับ 4 และ 5)

  • ระดับ 1: มีโอกาสปล่อยเถ้าภูเขาไฟ โดยมีความเสี่ยงต่อผู้คนที่ปล่องภูเขาไฟ ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงไม่ต้องดำเนินการใด ๆ แต่นักปีนเขาควรงดเว้นจากการเข้าใกล้ปากปล่อง
  • ระดับ 2: มีการปะทุหรือมีโอกาสเกิดการปะทุโดยที่ผู้อยู่อาศัยไม่ต้องดำเนินการใด ๆ แต่นักปีนเขาควรงดเว้นจากการเข้าใกล้ปากปล่อง
  • ระดับ 3: มีการปะทุหรือมีโอกาสเกิดการปะทุซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสถานที่ใกล้ย่านที่อยู่อาศัย ผู้อยู่อาศัยควรเตรียมอพยพผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ (ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ) และคอยตื่นตัวเผื่อเหตุฉุกเฉิน นักปีนเขาไม่ควรเข้าไปในเขตอันตรายตามที่กำหนดโดยระดับการปะทุ
  • ระดับ 4: มีการปะทุหรือมีโอกาสเกิดการปะทุซึ่งจะเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อพื้นที่ที่อยู่อาศัย ผู้อยู่อาศัยควรเตรียมอพยพและผู้ที่ไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ (ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ) ควรอพยพล่วงหน้า ผู้ที่ปีนเขาอยู่ไปควรอพยพทันที
  • ระดับ 5: มีการปะทุหรือมีโอกาสเกิดการปะทุที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อพื้นที่อยู่อาศัย ให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ทันที ผู้ที่ปีนเขาอยู่ไปควรอพยพทันที

สิ่งที่ควรทำในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินด้านภูเขาไฟในญี่ปุ่น

สิ่งที่ควรทำในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินด้านภูเขาไฟในญี่ปุ่น

หากคุณอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุฉุกเฉินทางภูเขาไฟในญี่ปุ่น ทางที่ดีควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแหล่งที่เป็นทางการ สำหรับการเดินป่า มัคคุเทศก์และเจ้าของกระท่อมพักกลางป่าสามารถให้ข้อมูล โดยควรตรวจสอบข้อมูลด้านความปลอดภัยล่วงหน้าหากจะไปปีนภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ ตามเส้นทางเดินมักจะมีที่หลับภัยจากภูเขาไฟ สำหรับผู้ที่อยู่ในเขตที่อยู่อาศัย ทางที่ดีควรหาแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ เช่น NHK - หน่วยงานข่าวระดับประเทศ การตระหนักถึงความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น สึนามิ ก็เป็นกุญแจสำคัญในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยมีป้ายบอกทางสำหรับอพยพอย่างชัดเจน J-Alert เป็นระบบเตือนภัยของญี่ปุ่นที่ใช้สำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีการประกาศทางโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ และลำโพงในเมืองในช่วงเวลาฉุกเฉิน

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend