ภาษาอังกฤษความหมายแปลก ๆ ในภาษาญี่ปุ่น? รวมฮิตคำคาตาคานะที่ความหมายแตกต่างจากคำต้นฉบับ

  • 19 พฤศจิกายน 2021
  • Mon
  • Mon

ภาษาอังกฤษความหมายแปลก ๆ ในภาษาญี่ปุ่น? คำอังกฤษแบบญี่ปุ่น ๆ ? รวมฮิตคำคาตาคานะที่ความหมายแตกต่างจากคำต้นฉบับ

สำหรับผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่น ก็คงเคยเรียนคำจากต่างประเทศที่เป็นตัวคาตาคานะแปลก ๆ ที่ได้ยินแล้วต้องเกาหัวงงกันบ้างสักสองสามคำนะครับ จริง ๆ แล้วคำที่คนญี่ปุ่นใช้กันบ่อย ๆ แต่ฟังแล้วแปลก ๆ นั้นมีมากมายเลยครับ เราจะมาแนะนำคำที่ว่านี้กันครับ! ครั้งนี้เป็นฉบับบรวมฮิตคำคาตาคานะที่มีความหมายต่างจากคำต้นฉบับกันครับ!

アルバイト (arubaito อารุไบโตะ)

アルバイト (arubaito อารุไบโตะ)

สำหรับคนที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นน่าจะเคยผ่านตากันมาทุกคนแล้วนะครับ ส่วนที่มาก็คิดว่าคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วนะครับ จริง ๆ แล้วมาจากคำภาษาเยอรมันว่า "arbeit" ครับ แต่คำว่า arbeit นั้นกลับไม่ได้หมายความว่า "งานพาร์ทไทม์" แต่อย่างใด แต่แปลว่า "งาน" ปกติเลยครับ แล้วทำไมความหมายถึงเพี้ยนกลายเป็นงาน "พาร์ทไทม์" ได้ละเนี่ย... อนึ่ง ในปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่นจะมีการเรียนพนักงานพิเศษแยกกันครับ คือ "バイト" (ไบโตะ หรือ ไบท์ ย่อมาจาก อารุไบโตะ) จะใช้เรียกเฉพาะนักเรียนนักศึกษาหรือพวกฟรีแลนซ์หรือคนที่มีงานประจำแล้วมาทำครับ ส่วน "パート" (พาโตะ หรือ พาร์ท ย่อมาจาก พาร์ทไทม์) จะใช้เรียกพวกพ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่มีงานประจำครับ

マンネリ (manneri มันเนริ)

マンネリ (manneri มันเนริ)

มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า "mannerism" ในภาษาอังกฤษครับ ความหมายก็คือ "กิริยาท่าทางเฉพาะตัว" ซึ่งใช้ตรงกับคำคาตาคานะอื่นคือ "マンネリズム" (mannerizumu) ครับ ส่วนคำว่า "マンネリ" (มันเนริ) ซึ่งเกิดจากต้นกำเนิดเดียวกันนั้น กลับแปลว่า "สภาวะหมดไฟเพราะความซ้ำซากจำเจ" แทนครับ เช่นการใช้วิถีชีวิตเดิม ๆ ทุกวันจนเบื่อ หรือจะใช้ในด้านความสัมพันธ์ของคู่รักก็ยังได้ ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะหมดไฟก็มีคำว่า "マンネリ化" (มันเนริกะ) ด้วยครับ กลายเป็นคำที่ไม่เกี่ยวกับคำตั้งต้นแรกสุด "manner" (มารยาท) ไปเลยนะครับเนี่ย...

テンション (tenshon เท็นชอน)

テンション (tenshon เท็นชอน)

มาจากคำว่า "tension" ในภาษาอังกฤษ แต่ทว่า คำต้นฉบับนั้นมีความหมายใกล้เคียดกับ "stress" คือความตึงเครียดหรือแรงเครียด รวมไปถึงความประหม่าครับ ปกติมักจะมีความหมายในเชิงลบ เช่นด้วยกับต้นคำ "tense" ที่แปลว่าเครียดครับ แต่ในภาษาญี่ปุ่น テンション ( เทนชั่น) กลับมีความหมายว่า "ความรู้ตื่นเต้น" เหมือนคำว่า "excitement" แทนครับ ถ้าลองพูดว่า "ハイテンション" (high tension) ใส่คนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก คงถูกมองว่า อารมณ์ไม่คงที่ใกล้ระเบิดแทนครับ แต่ถ้าคนญี่ปุ่นฟังก็กลับเข้าใจว่า "กำลังสนุกสุดฤทธิ์" เฉยเลย อาจจะเป็นเพราะ "ความประหม่า" ในภาษาญี่ปุ่นนั้นรวมอาการสั่นสู้เข้าไปด้วย เลยไม่ได้มีแต่ความหมายเชิงลบมั้งครับ

サービス (sa-bisu ซาบิสฺ)

サービス (sa-bisu ซาบิสฺ)

ปกติมีความหมายคล้ายคำต้นกำเนิด "service" ครับ แปลว่า "บริการ" แต่บางครั้งก็ใช้ในความหมายที่แปลกออกไป ตัวอย่างเช่น หากไปที่ร้านอาหารแล้วได้ยินว่า "これはサービスです" (kore wa sa-bisu desu นี่เป็นเซอร์วิสครับ) นั่นจะหมายความว่าทางร้านเสิร์ฟให้ฟรีครับ คำว่า "サービス残業" (ซาบิสฺซังเกียว) ก็หมายถึงการทำงานล่วงเวลา (โอที) ที่ไม่ได้ค่าล่วงเวลา (หรือโอฟรีนั่นเองครับ) ถ้าอย่างทางร้านอาหารนี่ยังพอเข้าใจว่าเป็นบริการพิเศษนะครับ แต่พนักงานบริษัทให้บริการฟรีกับบริษัทตัวเองนี่ มันก็ยังไงยังไงอยู่นะครับ...

ソールフード (so-ru fu-do โซรุฟูโดะ)

ソールフード (so-ru fu-do โซรุฟูโดะ)

จริง ๆ คำนี้เป็นคำที่คิดขึ้นมาในภาษาญี่ปุ่น แต่บังเอิญไปตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่มีอยู่แล้วครับ เลยใช้กันคนละความหมาย ในภาษาอังกฤษ soul food (อาหารโซล) จะหมายถึงอาหารพื้นเมืองของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เนื่องจากคำว่า soul ถูกนำมาโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกันอเมริกันมาตั้งแต่ยุคเพลง soul music แล้วครับ แต่ในญี่ปุ่นที่ใช้คำว่า soul ตามความหมายดั้งเดิม คือ จิตวิญญาณ คำว่า "ソールフード" (โซรุฟูโดะ โซลฟู้ด) ก็หมายถึงอาหารที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในท้องที่นั้น ๆ แทนครับ

コスパ (kosupa คอสปา)

コスパ (kosupa คอสปา)

มาจากคำตั้งต้นว่า "cost performance" ซึ่งหมายถึงการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับประสิทธิภาพที่ได้ อย่างในก็ตาม ในภาษาอังกฤษนั้นจะสงวนคำนี้ไว้ใช้ในเชิงปฏิบัติการหรือฝ่ายพัฒนาและนวัตกรรม เช่นเกี่ยวกับรถยนต์ คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม แต่ในญี่ปุ่นนั้น คำว่า "コスパ" (คอสปา) กลับใช้ได้ในทุกกรณีโดยเฉพาะในการโปรโมทสินค้าลดแลกแจกแถมครับ ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าเพราะอะไร...

タレント (tarento ทาเรนโตะ)

タレント (tarento ทาเรนโตะ)

มาจาคำกภาษาอังกฤษว่า "talent" ที่แปลว่า "พรสวรรค์" แต่ในภาษาญี่ปุ่นก็มีคำว่า "才能" (ไซโน) ที่มีความหมายเหมือนกันอยู่แล้ว คำว่า "タレント" (ทาเรนโตะ ทาเลนท์) จึงถูกใช้ในความหมายอื่นแทนครับ นั่นก็คือ ใช้เรียก "ดารา-คนดัง คนในวงการบันเทิง" ที่ปรากฎในทีวีบ่อย ๆ ครับ จริง ๆ คนเหล่านี้ก็มีพรสวรรค์แหละครับ แต่ทำไมคำนี้ถึงถูกเอามาใช้เฉพาะในโลกมายานี่ก็แปลกดีนะครับ อาจจะเป็นเพราะรายการทีวีจำพวก "show your talent" (แสดงความสามารถพิเศษ) มักจะเป็นการแสดงด้านดนตรี ร้องเพลง เต้น อะไรทำนองนี้แหละมั้งครับ

カンニング (kanningu คันนิงกฺ)

カンニング (kanningu คันนิงกฺ)

มาจากคำตั้งต้นว่า "cunning" ซึ่งแปลว่า "ขี้โกง" หรือ "เจ้าเล่ห์" แต่ในภาษาญี่ปุ่น "カンニング" แปลว่าการ "โกง" เลยครับ ก็จริงอยู่ว่าคนที่จะโกงได้ต้องเป็นคนเจ้าเล่ห์ แต่ทำไมถึงเอาคำนี้มาใช้ในความหมายแบบนี้เลยก็ไม่รู้นะครับ

クレーム (kure-mu คุเรมฺ)

クレーム (kure-mu คุเรมฺ)

คำว่า "claim" ในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า "การเรียกร้อง" ซึ่งสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของอันชอบธรรม เช่นในภาษาไทยเองก็ใช้คำว่า การเคลมประกัน เป็นต้นครับ แต่ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า "クレーム" (คุเรมุ เคลม) กลับหมายถึงการร้องเรียนหรือการพูดตำหนิติเตียนครับ อาจจะมองได้ว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิ์ในบริการหลังการขาย แต่จริง ๆ ก็ควรใช้คำว่า "complaint"  แทนมากกว่าครับ

コンセント (konsento คอนเซ็นโตะ)

コンセント (konsento คอนเซ็นโตะ)

ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง "เต้าเสียบจ่ายไฟ" ครับ คำต้นกำเนิดนั้นก็ยังไม่แน่นอน แต่ถ้าเอาเสียงใกล้เคียงกัน คำว่า "consent" ในภาษาอังกฤษหมายถึง "ตกลง-ยินยอม" หรือ "สมยอม" ซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแต่อย่างใดครับ มีบางทฤษฎีบอกว่า อาจจะมาจากการที่เป็นจุดรวมตัวจ่ายไฟฟ้า เลยอาจย่อมาจาก "concentration" ที่แปลว่าการรวมกัน ความเข้มข้น หรือสมาธิครับ อย่างไรก็ดี ถ้าคนญี่ปุ่นไปต่างประเทศแล้วถามว่า "コンセントはどこ?" (konsento wa doko? ปลั๊กไฟอยู่ไหน) อาจจะได้ consent อย่างอื่นมาแทนก็ได้นะครับ...

ในครั้งนี้เราได้แนะนำเฉพาะคำคาตาคานะที่มีความหมายต่างจากคำต้นฉบับเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วยังมีคำอังกฤษแบบญี่ปุ่น คำภาษาต่างประเทศที่แปลกไปจากเดิม และอื่น ๆ อีกมากมายครับ ถ้าใครไปเจอคำไหนน่าสนใจมาก็เอามาแชร์กันได้นะครับ ป้ายที่แปลภาษาญี่ปุ่นเป็นอังกฤษแปลก ๆ ก็ฮาไม่น้อยเลยครับ!

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend