คิวโด: ศิลปะอันน่าทึ่งของการยิงธนูแบบญี่ปุ่น

  • 26 กรกฎาคม 2021
  • Lily Baxter
  • Mon

คิวโด: ศิลปะอันน่าทึ่งของการยิงธนูแบบญี่ปุ่น

คิวโด (弓道) มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับกีฬายิงธนูสากล แต่ก็มีองค์ประกอบทางจิตวิญญาณที่สำคัญ คิวโดเป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักของญี่ปุ่น ฝึกฝนโดยทั้งผู้เรียนและปรมาจารย์ ถูกพัฒนาขึ้นโดยเหล่านักรบซามูไรและพระในสายเซนมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ส่งผลให้เกิดศิลปะแห่งความงาม ทักษะ และความละเมียดละไม

คิวโดคืออะไร?

คิวโดคืออะไร?

คิวโดเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่มีพื้นฐานมาจากการยิงธนูแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม และแปลว่า 'วิถีแห่งธนู' เดิมทีได้รับการพัฒนาสำหรับการล่าสัตว์และถูกพัฒนาจนสมบูรณ์แบบโดยซามูไร มันได้รับบทบาทให้เป็นวิถีทางจิตวิญญาณและได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนาสายเซน (ฌาณ) ปัจจุบัน มีการฝึกฝนคิวโดไปทั่วโลก และถือเป็นเส้นทางสู่ความสงบทางจิตวิญญาณ ความจริง และความงาม

ประวัติความเป็นมาของคิวโด

ประวัติความเป็นมาของคิวโด

การยิงธนูนั้นเป็นศาสตร์ที่ฝึกฝนกันโดยเหล่านายพรานทั่วโลกมานานหลายศตวรรษ และแม้ว่ามันอาจเริ่มต้นมาจากความต้องการพื้นฐาน คิวโดก็ได้พัฒนาเป็นศิลปะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศิลปวัตถุเกี่ยวกับการยิงธนูที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นมีขึ้นในยุคยาโยอิ (300 ปีก่อนคริสตกาล - 300 ปีหลังคริสตกาล) และภาพที่วาดจากยุคหินตอนปลายในญี่ปุ่นแสดงให้เห็นตำแหน่งที่โดดเด่นของที่จับ (เรียกว่า นิกิริ 握り) ที่ปลายล่างสุดของคันธนูขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงความเก่าแก่ของการออกแบบคันธนูแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม

ในช่วงที่ปกครองโดยระบบศักดินาของญี่ปุ่น (1185-1600) วิชายิงธนูได้รับการฝึกฝนโดยผู้ที่อยู่ในวรรณะซามูไรควบคู่ไปกับวิชาดาบ ในขณะที่อย่างหลังนั้นเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่อย่างแรกซึ่งเรียกว่า คิวจุตสึ (弓術 ศาสตร์แห่งธนู) ก็มีคุณค่ามากและมักใช้เป็นเครื่องระบุว่าซามูไรคนนั้นเป็นนักรบมืออาชีพ มักใช้ขณะอยู่บนหลังม้า ทักษะที่จำเป็นในการยิงให้ได้ประสิทธิภาพก็มากโข จึงมีโรงเรียนสอนยิงธนูเปิดสอนในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงศตวรรษที่ 15 Heki Danjo Masatsugu (日置弾正政次) ได้พัฒนาวิธีการสอนยิงธนูแบบ 'ฮิ คัน ชู' (飛・貫・中) ซึ่งหมายถึง 'เหิน ทะลวง กลาง' ซึ่งปฏิวัติการสอนการยิงธนู ในศตวรรษที่ 16 ปืนคาบศิลาเข้ามาแทนที่ในการต่อสู้ แต่การยิงธนูยังคงเป็นทักษะที่ฝึกฝนกันโดยสมัครใจในวรรณะซามูไร และได้รับบทบาทในฐานะวิถีทางจิตวิญญาณและพิธีกรรมในหมู่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาสายเซน พระที่ทำหน้าที่เป็นครูฝึกได้พัฒนาคิวโดโดยเน้นที่ปรัชญาและด้านจิตวิญญาณของการยิงธนู

เมื่อซามูไรสูญเสียอำนาจในช่วงยุคเมจิ ความนิยมของคิวโดก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มปรมาจารย์คิวโดที่อุทิศตนเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ศาสตร์นี้ไว้ สหพันธ์คิวโดแห่งญี่ปุ่นรวมถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1949 และมีผู้ฝึกฝนนับพันคนทั่วโลก

ปรัชญาของคิวโด

ปรัชญาของคิวโด

ในฐานะศิลปะการป้องกันตัว คิวโดมาพร้อมกับพื้นฐานทางปรัชญาและจิตวิญญาณที่หนักแน่น ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถูกพัฒนาขึ้นโดยพระสงฆ์ในพุทธศาสนาสายเซน แม้ว่าการยิงธนูจะถูกพัฒนาขึ้นในขั้นต้นเพื่อใช้ในการล่าสัตว์และต่อมาในการต่อสู้ การยิงธนูก็ได้พัฒนาเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งตลอดหลายศตวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกแทนที่ด้วยอาวุธอื่น ๆ คิวโดก็เช่นเดียวกับบุโด (ศิลปะการต่อสู้) เป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ซึ่งทั้งชาวพุทธและผู้ที่ไม่ใช่ชาวพุทธใช้เพื่อเข้าถึงการรวบรวมสมาธิอย่างสมบูรณ์

เป้าหมายของคิวโดตามที่สหพันธ์คิวโดแห่งญี่ปุ่นได้อธิบายไว้คือ การบรรลุ ชิน-เซน-บิ (真善美) ซึ่งหมายถึงความจริง ความดี และความงดงาม สิ่งนี้สะท้อนถึงความแม่นยำและความสง่างามของการยิง แต่ยังรวมถึงจิตวิญญาณและทัศนคติที่ดีงามของผู้ฝึกในศาสตร์นี้ที่เรียกว่าคิวโดกะ (弓道家 ผู้ฝึกฝนวิถีธนู) ชิน สะท้อนความเชื่อที่ว่าการยิงแม่นยำไม่มีความลวง โดยความแม่นยำของการยิงจะวัดจาก ซาเอะ (冴 ความสงบ) สึรุเนะ (弦音 เสียงสายธนูเมื่อปล่อย) และเทคิจู (的中 ความแม่นยำในการโดนเป้า) องค์ประกอบของ เซน สะท้อนให้เห็นถึงจุดเน้นทางจริยธรรมของคิวโด โดยผสมผสาน เร (礼 มารยาท) และ fuso (不争 การไม่ประจันหน้า) เข้าด้วยกันเพื่อให้สงบและนิ่งโดยแสวงหาความสงบผ่านการโฟกัส องค์ประกอบสุดท้าย บิ ถูกพบในสององค์ประกอบก่อนหน้า ด้วยความมีเกียรติและความกลมกลืนที่มอบความงามที่แท้จริง แม้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในคิวโดเอง แต่ก็คาดหวังว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะขยายไปสู่ชีวิตประจำวันซึ่งดำเนินการโดยคิวโดกะตลอดเวลาและสะท้อนถึงวิถีชีวิตของพวกเขา

อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคิวโด

อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคิวโด

คิวโดนั้นต้องการเพียงอุปกรณ์ไม่กี่อย่าง แต่คุณภาพและฝีมือของสิ่งเหล่านี้คือกุญแจสำคัญ แม้ว่าอุปกรณ์ทดแทนที่ทันสมัยกลายเป็นเรื่องปกติกันมากขึ้น การใช้อุปกรณ์แบบดั้งเดิมก็ยังคงเป็นที่นิยมเช่นกัน

ยูมิ (弓): คันธนู

คันธนูของญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในด้านความสง่างามและตัวคันที่ยาว โดยมีความแตกต่างที่แยกแยะได้ง่ายเมื่อเทียบกับคันธนูที่ใช้ในฝั่งตะวันตก ด้วยความสูงเฉลี่ย 2 เมตรเมื่อจับขึ้นมายิง คันธนูแบบญี่ปุ่นจะสูงกว่าตัวนักธนู ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับคันธนูแบบตะวันตกที่สั้นกว่าและแข็งแกร่งกว่า ความแตกต่างนี้เน้นย้ำจุดสนใจของคิวโดในด้านความสง่างามและศิลปะมากกว่าการใช้ล่าสัตว์จริง - การปล่อยลูกศรที่เรียกว่า ฮัชฉะ (発射) ก็เป็นสิ่งที่สวยงามพอ ๆ กับความแม่นยำ

ยูมิทำจากไม้ไผ่แบบดั้งเดิมโดยใช้กาวธรรมชาติที่เรียกว่า นิเบะ (鰾) อย่างไรก็ตาม คันธนูตามธรรมชาติเหล่านี้ไวต่อความร้อนและความชื้น และต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษในการบำรุงรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนและฤดูร้อนที่ชื้นของญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ คันธนูสังเคราะห์จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น

คันธนูที่ยาวกว่าเรียกว่า โชคิว (長弓) และชื่อของที่จับซึ่งอยู่ที่ส่วนล่างของคันธนูเรียกว่า นิกิริ (握り) เมื่อกำหนดความสูงของคันธนู จะวัด ยาสุกะ (矢束 / yazuka การง้าง) ของนักธนู ซึ่งมักจะสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวคันธนู สึรุ (弦 สายธนู) บนคันธนูยังต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ และต้องถูด้วยผ้าทอและเรซินเพื่อเสริมความแข็งแรงหลังการใช้งาน

ยะ (矢): ลูกศร

ลูกศรคิวโดแบบดั้งเดิมทำมาจากไม้ไผ่และยืดให้ตรงด้วยมือ หากงอก็สามารถยืดให้ตรงได้อีกครั้งโดยใช้ความร้อน และฝีมือการผลิตศรก็ถือเป็นศิลปะในตัวของมันเอง ฮาเนะ (羽 / hane) หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า fletchings (ขนด้านข้างลูกศร) นั้นทำมาจากขนนกเหยี่ยวหรือขนนกอินทรีในฐานะสัตว์นักล่าหลัก แต่เนื่องจากสัตว์เหล่านี้เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองจึงใช้ทางเลือกอื่นกัน

ลูกศรมีสองรูปแบบตามขนที่ใช้ - ฮายา (甲矢 ปกติใช้ยิงก่อน) จะหมุนตามเข็มนาฬิกาเมื่อปล่อย ขณะที่โอโตยะ (乙矢 ยิงครั้งที่สอง) จะหมุนทวนเข็มนาฬิกา เนื่องจากคิวโดเป็นงานศิลปะและไม่ใช้สำหรับล่าสัตว์หรือเล่นกีฬา ปลายลูกธนูจึงมีฝาปิดโลหะที่ใช้ป้องกันระหว่างการใช้งาน ความยาวของลูกศรถูกกำหนดโดย ยาสุกะ (การง้าง) ของนักธนูคิวโดกะ แล้วบวกไปอีก 6-10 ซม. การปล่อยลูกศรเรียกว่า ฮัชฉะ และเป็นช่วงเวลาแห่งความสนใจอย่างแท้จริงสำหรับนักธนู

ฟุเดโกะ (筆粉) กิริโกะ (ぎり粉) และ สึรุมากิ (弦巻): อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ

เช่นเดียวกับศิลปะทุกประเภท ซึ่งก็มักจะมีอุปกรณ์เสริมบางอย่างที่คุณสามารถใช้เพื่อทำให้ทุกอย่างราบรื่นขึ้นเล็กน้อย ในคิวโดมีสามสิ่งที่นักธนูที่ฝึกฝนมากที่สุดมักจะมีติดไว้อยู่ตลอดเวลา

ฟุเดโกะ เป็นผงที่ทำจากแกลบเผาและใช้ทามือเพื่อดูดซับเหงื่อ คันธนูจึงสามารถเหวี่ยงหมุนเมื่อปล่อยลูกศรได้และอุปกรณ์ไม่เสียหาย กิริโกะ เป็นผงเรซินชนิดหนึ่งซึ่งบางครั้งถูกทาไว้ที่นิ้วโป้งและนิ้วที่ใช้จับศรเพื่อช่วยรักษาการยึดเกาะตัวลูกศรขณะยิง สุดท้าย สึรุมากิ คือสายธนูม้วนเล็ก ๆ ที่ใช้ในกรณีที่สายธนูที่ติดอยู่บนคันเกิดขาดระหว่างการใช้งาน สึรุมากิมักจะทำจากไม้ไผ่สานพร้อมสายหนัง และมักจะมีภาชนะขนาดเล็กที่ทำจากเขากวางหรือเขาที่เรียกว่ากิริโกะอิเระ (ぎり粉入れ) และฟุเดโกะอิเระ (筆粉入れ) ติดอยู่ที่สายรัด

เสื้อผ้าที่สวมใส่สำหรับการฝึกคิวโด

เสื้อผ้าที่สวมใส่สำหรับการฝึกคิวโด

นอกจากอุปกรณ์พิเศษแล้ว การสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับคิวโดก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และยังสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพและความจริงจังของการฝึกคิวโดอีกด้วย

ยุกาเกะ (弓弽): ถุงมือ

ถุงมือเป็นส่วนสำคัญของการฝึกคิวโดและมักจะทำมาจากหนังกวาง มักจะมีส่วนนิ้วหัวแม่มือที่ด้านแข็งและข้อมือที่แข็งแรงและสามารถใช้งานได้นานหลายปีเมื่อได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ถุงมือมีสามประเภท ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับประเพณีของศิลปะและระดับการฝึก ได้แก่ มิตสึกาเกะ (三つがけ สวมสามนิ้ว) ยตสึกาเกะ (四つがけ สวมสี่นิ้ว) หรือ โมโรกาเกะ (諸弽 สวมครบห้านิ้ว) และเป็นที่ทราบกันดีว่ามีผลต่อความคล่องแคล่วของผู้ยิง

วาฟุกุ (和服) หรือ คิวโดกิ (弓道着): ชุดยิงธนู

การสวมวาฟุกุซึ่งคล้ายกับชุดกิโมโนเป็นเรื่องปกติในระหว่างการแข่งขันหรืองานต่าง ๆ ส่วนคิวโดกิเป็นชุดที่นิยมสวมใส่เพื่อฝึกซ้อม เมื่อสวมใส่อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ ฮากามะที่นุ่งควรเป็นแบบกางเกง และท่อนบนสีขาวเป็นสีถึงจะเหมาะสมที่สุด องค์ประกอบยิบย่อยของเครื่องแต่งกายก็ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเช่นกัน รวมถึงทาบิ (ถุงเท้าแบบแยกนิ้ว) ซึ่งจะต้องเป็นสีขาว และรูปลักษณ์โดยรวมควรสะอาด ดูดี และให้เกียรติคนอื่น ๆ

มุเนะอะเตะ (胸当て): เครื่องป้องกันหน้าอก

เมื่อฝึกคิวโด นักธนูหญิงสามารถสวมแผ่นป้องกันอกเพื่อป้องกันไม่ให้โดนสายธนูดีดเมื่อยิง มูเนะอะเตะโดยทั่วไปทำจากหนังหรือพลาสติก

ทำความเข้าใจกับการแข่งขันคิวโด

ทำความเข้าใจกับการแข่งขันคิวโด

แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคิวโดกะจะเลือกเข้าร่วมการแข่งขัน และเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบทางจิตวิญญาณและการฝึกตนเองของวิถีธนูแทน แต่ก็มีการแข่งขันที่จัดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ การแข่งขันมีพิธีการในระดับสูง รวมทั้งวิธีการที่นักธนูเข้าสู่ห้องโถง สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการโค้งคำนับไปยังผู้ตัดสิน การเดินเข้าใกล้เส้นแนวยิงและคุกเข่า ก่อนที่จะโค้งคำนับมาโต้ (的 เป้า) เข้าใกล้แนวยิงและทำกระบวนการฮัสเซทสึ (八節 การยิงแปดขั้นตอน) โดยองค์ประกอบทั้งหมดทำพร้อมกันกับนักธนูอีก 3-4 คน

สำหรับการแข่งขันในญี่ปุ่น นักธนูแต่ละคนจะใช้ลูกศรสองชุด ชุดละสองดอก โดยนักธนูทุกคนจะยิงธนูคนละหนึ่งดอกเวียนกันตามลำดับ

วิธีการได้รับคะแนน

เมื่อยิงโดนมาโตะ (กระดานเป้า) สำเร็จ นักธนูจะได้รับเครื่องหมายมารุ (丸 วงกลม) และหากพลาดเป้า จะได้รับเครื่องหมายบัตสึ (バツ กากบาท) นักธนูมีเป้าหมายคือการยิงให้เข้ามาโตะด้วยลูกศรทั้งสี่ดอกที่ใช้ยิงออกไป

ระดับชั้นและยศนำหน้าในคิวโด

ระดับชั้นและยศนำหน้าในคิวโด

เช่นเดียวกับศิลปะการต่อสู้ทั้งหมด มีระบบการจัดการระดับและติดยศในคิวโดอย่างเข้มงวด ซึ่งใช้วัดทั้งระดับเริ่มต้นและระดับปรมาจารย์ด้วยการประเมินที่ใช้เพื่อกำหนดระดับของนักธนู

ดั้ง (段) และ คิว (級): การแยกระดับชั้นของคิวโด

ผู้เรียนคิวโดจะมีการแบ่งระดับชั้นสองอย่าง: ดั้ง และ คิว สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงลำดับชั้นและจะได้รับจากการสอบ (พบได้ทั่วไปในตะวันตก) หรือผ่านการประเมินโดยผู้สอน คิว (ระดับ) มักจะมอบให้ในชุมนุมชมรมระดับโรงเรียนในญี่ปุ่นเท่านั้น โดยผู้ใหญ่มักจะข้ามไปใช้ดั้ง (ขั้น) การจัดอันดับเหล่านี้คล้ายกับกีฬาป้องกันตัวประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม คิวโดไม่ได้สวมเข็มขัดหรือมอบตราสัญลักษณ์เพื่อแสดงระดับแต่อย่างใด

ผู้เริ่มต้นของคิวโดจะเริ่มที่ คิว 5 (ระดับ 5) และเลื่อนขึ้นไปยังคิว 4 คิว 3 และ คิว 2 จนถึงคิว 1 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการยิงและการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง จากนั้นพวกเขาจะย้ายไปยังการจัดแบบ ดั้ง (ขั้น) ซึ่งเริ่มต้นด้วย โฉะดัน (処断 ดั้งแรก) และเลื่อนขึ้นผ่านดั้งทั้งหมด 10 ดั้ง และที่มาพร้อมกับกการแยกชั้นแบบดั้งก็คือการมุ่งเน้นที่ทักษะทางเทคนิคให้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ และมีการเน้นที่ด้านจิตวิญญาณของคิวโดมากขึ้น

โชโก (称号): ยศนำหน้าของคิวโด

ในขณะที่นักธนูก้าวหน้าไปตามระดับของคิวและดั้ง พวกเขาอาจแสวงหายศโชโกที่ได้รับความนับถืออย่างสูง สิ่งเหล่านี้สงวนไว้สำหรับผู้ที่ได้แสดงความสำเร็จที่โดดเด่นในคิวโดและมีสามระดับที่แตกต่างกัน เร็นชิ (錬士 ผู้สอน) เป็นระดับแรกที่ต้องการบุคลิกภาพที่แน่วแน่ ได้ระดับ 5 ดั้งหรือสูงกว่า และต้องมีความสามารถในการสอนที่ดี เคียวชิ (教士 อาจารย์) ต้องมีวิจารณญาณ ความสามารถทางเทคนิค ทุนการศึกษา และทักษะการฝึกฝนเพื่อให้มีความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำและควรได้รับยศเร็นชิแล้ว สุดท้ายคือ ฮันชิ (範士) หมายถึงปรมาจารย์ และต้องการระดับสูงสุดของความประพฤติ ศักดิ์ศรี และการหยั่งรู้และได้ยศเคียวชิอยู่แล้ว

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend