
สำหรับคนไทย ตอนเด็ก ๆ เวลาหกล้มหรือเจ็บอะไรมา คงเคยเจอผู้ใหญ่พูดว่า โอมเพี้ยง แล้วเป่าแผลหรือเป่าหัวให้หายปวดกันบ้างใช่มั้ยครับ ที่ญี่ปุ่นก็มีครับ เรียกกันว่า โอมาจิไน (おまじない / Omajinai) ซึ่งบางครั้งก็สะกดว่า お呪い ซึ่งดูคล้ายกับคำว่า โนโรอิ (呪い / Noroi) ที่แปลว่าคำสาปครับ ในครั้งนี้เราจะมาค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับ โอมาจิไน กันครับ
โอมาจิไน คืออะไร
โอมาจิไน ไม่ใช่เพียงการร่ายคาถาเพื่อทำการอะไรสักอย่างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคำพูดคำจา การทำพิธีกรรม การเขียนอักขระ การทำอากัปกิริยา การประดิษฐ์วัตถุ หรือแม้แต่การถือเคล็ดต่าง ๆ ตามความเชื่อด้วยครับ ถ้าพูดในภาษาไทยก็คือ การถือเคล็ดและความเชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ เรียกรวมกันนั่นเองครับ
โอมาจิไนที่พบเจอกันบ่อย ๆ ในญี่ปุ่นหรือเห็นตามสื่อต่าง ๆ ก็จะมีดังนี้ครับ
โอมาจิไนจำพวกคาถาพูด
คาถาแก้เจ็บแก้ปวด

“เจ็บตรงไหนเจ็บตรงไหน หลุดหายเพี้ยง” หรือในภาษาญี่ปุ่นใช้ว่า 痛いの痛いの飛んでけ (itai no itai no tonde ke / อิไตโนะอิไตโนะทอนเดะเก้) เป็นเหมือนการปัดเป่าความเจ็บปวดให้หลุดลอยหายไป คล้าย ๆ กับการเป่าหายเพี้ยงของไทย แต่ที่ญี่ปุ่นจะไม่ใช้ลมจากปากเป่านะครับ เขาจะใช้การแตะนิ้วตรงจุดที่เจ็บเบา ๆ แล้ววนนิ้วเหมือนดึงเอาความเจ็บนั้นออก แล้วพอพูดว่า tonde ke ก็สะบัดนิ้วที่วนอยู่ไปทางอื่นเหมือนสะบัดเอาความเจ็บปวดนั้นทิ้งไปทางอื่นครับ ในทางวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าการใช้สัมผัสอื่นเช่นการแตะและนวดเบา มากลบความเจ็บปวด อาจจะส่งผลให้เจ้าตัวรู้สึกเจ็บน้อยลงเนื่องจากสัญญาณของเส้นประสาทที่ถูกสัมผัสอื่นมาแทรกแซงครับ ส่วนของไทยก็ใช้ลมจากปาก ให้ผลที่คล้าย ๆ กัน
แต่เดิมคาถาที่กล่าวข้างต้นจะใช้กันว่า ชิชินปุยปุย อิไตโนะอิไตโนะทอนเดะเก้ แต่ไหนปัจจุบันลดรูปเหลือแค่อย่างที่กล่าวไปครับ ส่วน ชิชินปุยปุย โกะโยโนะออนทาคารา หรือ ちちんぷいぷい 御代の御宝 / Chichinpuipui Goyo no On-takara) กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งจากซีรี่ส์เรื่อง JINS คุณหมอทะลุมิติ ที่มีฉากที่ต้องผ่าตัดโดยไม่ใช้ยาชา แล้วลูกของคนไข้ก็พูดคาถานี้ขึ้นมาครับ
เชื่อกันว่า มาจากคำพูดที่ว่า ชิจินบุยูวะมิโยะโนะออนทาคารา (智仁武勇は御代の御宝 / Chi-Jin-Bu-Yuu wa miyo no On-takara) ซึ่งแปลว่า “ความรู้ ความเมตตา ยุทธวิชา และความหาญกล้า คือมหาทรัพย์ของโลก” ซึ่งคาดว่ามาจากคำสอนทางขงจื๊อที่ว่า “ผู้มีปัญญาย่อมไม่สับสน ผู้มีเมตตาย่อมไม่วิตก ผู้มีความหาญกล้าย่อมไม่หวาดหวั่น” แต่ คาสุกะ โนะ สึโบเนะ แม่นมของโชกุนโทคุงาวะรุ่นที่สาม โทคุงาวะ อิเอะมิตสึ ได้นำคำสอนมาแปลงเป็นคาถาแก้เจ็บปวด และเพิ่ม 武 หรือยุทธวิชาเข้าไปเนื่องจากเล็งเห็นว่าเด็กที่เลี้ยงดูจะเติบใหญ่เป็นโชกุนในวันข้างหน้า แต่พอคาถานี้กระจายสู่สามัญชน ก็เพี้ยนไปจนกลายเป็น ชิชินปุยปุย ไปและหาความหมายต้นฉบับได้ยากขึ้น
คาถา ทนร้อนทนหนาว แก้ปวดจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก

“โอม อวิระ ฮุม กัม สวาหา” หรือในภาษาญี่ปุ่นว่า おんあぶらうんけんそわか (on a bi ra un ken sowaka / ออง อะบิระ อุน เค็น โซวะกะ) เป็นบทสรรเสริญพระมหาไวโรจนพุทธเจ้าตามความเชื่อของนิกายชินงอน มีบล์อกเกอร์ที่เขียนเกี่ยวกับโอมาจิไนกล่าวว่าสมัยก่อนตอนเล่นซนจนไปโดนกาน้ำร้อนลวกมือ พ่อเขาร่ายคาถานี้ให้ จากนั้นเจ้าตัวก็รู้สึกเจ็บน้อยลง
นอกจากนี้ คาถานี้ยังเคยถูกนำไปใช้โดยไอดอลกรุ๊ป Nogizaka48 ในรายการตอนที่สาว ๆ ไปทำการฝึกสมาธิที่น้ำตก โดยจะสวดคาถานี้เพื่อทนความหนาวของน้ำตกกันครับ
นอกจากนี้ยังมีคาถา “พญางูแห่งสระชิโนบาสุ เคยถูกไฟไหม้ แต่ไม่เจ็บไม่คัน” หรือ 不忍の池の大蛇が火傷して、痛まず痒からず (Shinobazu no ike no Orochi ga yakedo shite, itamazu kayukarazu / ชิโนบาสุอิเกะโนะโอโรจิงะยาเกโดะชิเตะอิตาทาสุคายุคาราสุ) ซึ่งเป็นคาถาที่ใช้ในแถบโตเกียว แต่ทางแถบอื่นจะใช้แหล่งน้ำขึ้นชื่อของแถบนั้น ๆ แทน
โอมาจิไนจำพวกการเขียนอักษระ
เสริมความกล้าแก้ความประหม่าด้วยการกลืนคน 3 คน

ไม่ใช่กลืนจริง ๆ นะครับ แต่เป็นการเขียนคำว่า人 (hito / ฮิโตะ) 3 ครั้งบนฝ่ามือแล้วทำเป็นกลืนคำที่เขียนลงไป สำหรับที่มา บางคนก็ว่าเป็นการเสริมกำลังของคน 3 คน บางคนก็ว่ามันมีเส้นประสาทบนฝ่ามือที่ช่วยคลายความประหม่าและการเขียนคำว่าคนจะช่วยกดจุดดังกล่าว แต่บางคนก็บอกว่า จริง ๆ แล้วเป็นการเล่นคำ คือก่อนที่จะถูกสายตาของผู้คนครอบงำกลืนกินไปจนตื่นกลัว ให้เราเป็นฝ่ายครอบงำกลืนผู้คนด้วยการแสดงที่ยอดเยี่ยมประทับใจแทนครับ คล้าย ๆ กับการกัดรองเท้าเพื่อไม่ให้รองเท้ากัดเราตามการถือเคล็ดของไทยนั่นเอง
แก้เมารถเมาเรือโดยให้คนอื่นช่วยเขียนอักขระ

เขียนตัวอักษรว่า “賦” (Fu / ฟุ) โดยยังไม่ต้องเขียนเส้นสุดท้าย (เส้น ‘ ที่มุมความบน) ลงบนที่นั่งที่คนที่ไม่อยากเมารถเมาเรือจะไปนั่ง จากนั่งให้คนคนนั้นไปนั่ง แล้วเขียนเส้นสุดท้ายลงที่หน้าผากของคนคนนั้น แล้วคนดังกล่าวจะไม่เมารถเมาเรือตลอดเวลาที่นั่งตรงนั้นเลย แม้ว่าอันนี้จะไม่ค่อยปรากฎตามสื่อสักเท่าไหร่ แต่รู้ไว้ ถ้าเจอก็จะได้เข้าใจนะครับ
ให้คนที่แอบชอบมาชอบเรากลับด้วยการเขียนชื่อใต้ร่ม

หรือที่เรียกกันว่า 相合傘 (aiaigasa / ไอไอกาสะ) เป็นที่นิยมในหมู่สาว ๆ วิธีทำก็ง่าย แต่คนส่วนใหญ่มักรู้แค่การเขียน แต่ไม่ได้รู้ลึกถึงสิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับต่อ ๆ มาครับ เริ่มจากการเขียนรูปร่มลงบนกระดาษ แล้วเขียนชื่อตัวเองที่ฝั่งซ้ายของคันร่ม เขียนชื่อคนที่แอบชอบที่ฝั่งขวาของคันร่ม พับกระดาษให้เรียบร้อยแล้วนำติดตัวไว้ไม่ให้ใครเห็น (ไม่ใช่แค่เนื้อหาในกระดาษเท่านั้น แต่รวมถึงตัวกระดาษด้วย) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จกานั้นก็เอาไปวางบนที่สูง ๆ ลับตาคน เป็นอันเสร็จ นอกจากนี้ยังมีการถือเคล็ดเช่นการเขียนรูปหัวใจไว้เหนือร่ม และการห้ามมีเส้นอื่น ๆ มาตัดโดนร่ม เขียนร่มให้เอียงมาทางฝั่งชื่อตัวเอง (เหมือนให้อีกฝ่ายเทใจมาให้) รวมไปถึงการใช้สีปากกาเช่นสีแดงสำหรับชื่อตัวเอง สีน้ำเงินสำหรับชื่ออีกฝ่าย และสีม่วงสำหรับตัวร่ม
โอมาจิไนจำพวกการกระทำ
ปัดรังควานเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่ไปทำงาน

มักจะพบเห็นในละครย้อนยุคสมัยเอโดะ เวลาผู้ชายในบ้านจะออกไปทำงาน ผู้หญิงในบ้านเช่นภรรยาหรือแม่จะออกมาเอาหินเหล็กไฟขัดกันแชะ ๆ ให้เกิดประกายไฟใกล้ ๆ บริเวณแผ่นหลังของคนที่จะออกไปข้างนอก เพื่อเป็นการปัดรังควานให้ไปกลับอย่างปลอดภัย เรียกกันว่า คิริบิ (切り火 / kiribi) ส่วนนี้จะคล้าย ๆ วิธีการตบหลังไล่สิ่งไม่ดีที่เคยเล่าไปก่อนในตอนที่ 30 ครับ เพราะเชื่อกันว่า วิญญาณมักจะตามอยู่ที่หลัง
วิธีไล่ลูกค้าที่ชอบนั่งแช่นาน ๆ กลับ
ตั้งไม้กวาดกลับหัวแล้วเอาผ้าเช็ดมือคลุมที่ปลาย ลูกค้าจะรีบกลับกันอย่างเร็วเลย จริง ๆ อันนี้คงไม่เชิงว่าเป็นเคล็ดเท่าไหร่ครับ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไล่ลูกค้ามากกว่า
โอมาจิไนจำพวกวัตถุ
เหรียญ 5 เยน

หรือที่เรียกว่า 五円 (go en / โกะเอ็น) ซึ่งพ้องกับ ご縁 ที่แปลว่าโชคลาภหรือดวงชะตาด้วย จึงนิยมใช้ในหลาย ๆ ที่ เช่น การบริจาควัดหรือศาลเจ้าเวลาไปขอพร หรือทำเป็นเครื่องรางครับ
แมวกวักเรียกโชคลาภ

ที่ญี่ปุ่น แมวกวักนอกจากจะใช้เรียกลูกค้าแบบนางกวักที่ไทยแล้ว ยังใช้ในการเรียกโชคลาภอื่น ๆ ได้ด้วย สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความที่เกี่ยวข้องครับ
ทานุกิตั้งหน้าร้าน

นอกจากแมวกวักแล้ว หลายคนคงเคยเห็นหุ่นทานุกิตัวใหญ่ ๆ ตั้งอยู่หน้าร้านกันบ้าง เรียกกันว่า たぬきの置物 (tanuki no okimono / ทานุกิโนะโอคิโมโน) หุ่นทานุกิเป็นสิ่งนำโชคสำหรับภาคธุรกิจด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ชื่อทานุกิที่สามารถอ่านเป็นคันจิได้ว่า 他抜き ซึ่งแปลได้ว่า แซงหน้าคนอื่น และลักษณะนำโชค 8 อย่าง คือ
- 笠(kasa / คาสะ) งอบกันฝน ป้องกันเจ้าของจากเรื่องร้ายและภยันตราย
- 目 (me / เมะ) ตาที่ใหญ่ ระแวดระวังเรื่องรอบตัวได้
- 顔 (kao / คาโอะ) ใบหน้าที่น่ารัก ความรักใคร่เอ็นดูเป็นสิ่ง จำเป็นในการทำธุรกิจ
- 尻尾 (shippo / ชิปโปะ) หาง ช่วยค้ำจุนให้ยืนมั่นคง และยังเป็นเคล็ดว่า อะไรที่ลงท้ายดีก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีทุกอย่าง
- 腹 (hara / ฮารา) พุงขนาดใหญ่ เป็นนัยถึงการทำงานโดยควบคุมอารมณ์ได้ (ในภาษาญี่ปุ่น วลี 腹を据える / hara wo sueru กดพุง แปลว่าการข่มอารมณ์โกรธ ตรงข้ามกับ 腹が立つ / hara ga tatsu หน้าท้องตั้ง ที่แปลว่า โมโหอารมณ์ขึ้น)
- 金玉 (kintama / คินทามะ) อัณฑะขนาดใหญ่ ในภาษาญี่ปุ่น ชื่อ "คินทามะ" ยังแปลว่า "ก้อนทอง" ได้ด้วย จึงหมายถึงมีเงินมากมายให้ทำอะไรได้ตามใจชอบ
- 徳利 (tokkuri / ทคคุริ) ขวดสาเก มีความหมายว่าไม่มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน และคันจิ 徳 ยังแปลว่า ความดี กรรมดี ด้วย
- 通い帳 (kayoi chou / คาโยอิโจ) ป้ายผ่านทาง หมายถึงความไว้เนื้อเชื่อใจของร้านที่ไม่มีวันขาดหาย
ตุ๊กตาไล่ฝน เทรุเทรุโบสุ (พระผู้ไล่ฝนเบิกฟ้า)

เป็นที่รู้จักในต่างประเทศจากการ์ตูนเรื่องอิ๊กคิวซัง ตุ๊กตาไล่ฝนนั้นเรียกว่า てるてる坊主 (terteru bouzu / เทรุเทรุโบสุ) ซึ่งน่าจะมาจาก 照る เทรุ ที่แปลว่าส่องสว่าง เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากตำนานพระผู้อวดอ้างว่าสามารถไล่ฝนเบิกฟ้าได้ของประเทศจีน รวมถึงมีเพลงการละเล่นเด็กในญี่ปุ่นที่เล่าถึงตำนานนี้ด้วย
แต่ทว่า ท่อนร้องท่อนที่ 3 ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก กล่าวว่า ถ้าฝนตก จะตัดคอเจ้าเสีย ซึ่งตรงกับตำนานว่า มีผู้คนไม่เชื่อในคำอวดอ้างของพระรูปดังกล่าว จึงมีการท้าให้ไล่ฝนกัน พอเกิดฝนตกขึ้นจริงก็เลยจับตัดหัวเสียบประจานฐานอวดอุตริมนุษย์เกินจริงครับ...
แล้วก็ยังมีความเชื่อกันด้วยว่า ถ้าแขวนตุ๊กตาไล่ฝนให้ห้อยหัวลง จะเป็นการเรียกฝนแทน เรียกว่า ตุ๊กตาเรียกฝน หรือ ふれふれ坊主 (furefure bouzu / ฟุเรฟุเรโบสุ)
ทีเซอร์สำหรับคราวหน้า
เป็นยังไงกันบ้างครับ ความเชื่อและการถือเคล็ดของคนญี่ปุ่น จริง ๆ ยังมีโอมาจิไนอีกมาก เช่น คาถาสมหวังตามความปรารถนาแบบสมัยใหม่อย่าง Café Casita non Cafera et Publia Filio Omnipath Size หรือ Sharibli Sharibli Estraton แต่ไม่ทราบที่มาและภาษาที่ใช้ จึงขอข้ามไปนะครับ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสยองที่เกี่ยวข้องกับโอมาจิไนด้วย เดี๋ยวเอาไว้คราวหน้านะครับ
อ่านบทความอื่นได้ที่นี่>>>เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ
Comments