เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 30: เมื่อเจอผี คนญี่ปุ่นจะทำอย่างไร กรณีที่เจอข้างนอก

  • 19 มิถุนายน 2020
  • 22 มิถุนายน 2020
  • Mon
  • Mon

เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 30: เมื่อเจอผี คนญี่ปุ่นจะทำอย่างไร กรณีที่เจอข้างนอก

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเชื่อผสมหลายอย่าง โดยหลัก ๆ จะคล้าย ๆ ไทยที่มีทั้งพุทธ พราหมณ์และผี ญี่ปุ่นเองก็มีทั้งพุทธแบบมหายาน ชินโต และผีเช่นกัน แม้ว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยนับถืออะไรชัดเจน เกิดมาไปศาลเจ้า แต่งงานไปโบสถ์ พอทำศพไปวัด แต่เรื่องผี ๆ ก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นเจอกันมากครับ แม้ว่าคนที่ไม่เคยเจอจะออกมาเถียงว่าไม่มีจริงก็ตาม...

ไหน ๆ คราวที่แล้วเคยพูดเรื่องนายแพทย์สายคิทำพิธีสะกดสิ่งชั่วร้ายไปแล้ว ครั้งนี้เราจะมาดูกันว่า เวลาที่เจอผี คนญี่ปุ่นมีวิธีการรับมืออย่างไรกันบ้างดีกว่าครับ

แน่นอนว่าเวลาที่เจอผี การรับมือจะต้องแยกกันไปตามกรณีครับ ถ้าเจออยู่ข้างนอก ยังไม่ได้ตามมาถึงบ้าน คงไม่ต้องไปทำอะไรเป็นพิเศษ ถ้าเจอในฝัน ก็ต้องไปแยกอีกว่าเป็นคนรู้จักหรือผีที่ไหนก็ไม่รู้ ต่างวาระก็ต่างวิธีการครับ

ในครั้งนี้ผมจะขอพูดถึงกรณีที่เจอในที่ที่ไม่ใช่บ้านหรือที่พักเช่นโรงแรม ห้องนอน หอพัก เท่านั้นนะครับ ปกติคนที่ไม่มีสัมผัสด้านนี้มักจะไม่เจอ ยกเว้นกรณีที่ไปลองของตามสถานที่เฮี้ยน ๆ หรือมีสัมผัสพอประมาณที่จะรับรู้ได้ถึงการเตือนหรือสิ่งปกติครับ หรือแค่เดินผ่านสถานที่ที่มีคนตายหรือป้ายหลุมศพแล้วเห็นก็นับรวมในกรณีนี้ครับ

ทำเป็นมองไม่เห็น

ทำเป็นมองไม่เห็น

หากมีสัมผัสให้มองเห็นด้วยตา สิ่งแรกที่คนญี่ปุ่นที่ไม่เคยเจอผีมาก่อนมักกจะทำคือเผลอทักไปครับ ซึ่งถ้าผีหรือดวงวิญญาณนั้นรู้ว่ามองเห็น คราวนี้โดนตามแน่นอนครับ ทั้งหลอกหลอนและตามไปถึงบ้าน ยิ่งบ้านที่ญี่ปุ่นไม่มีศาลด้วย ผีเข้าออกกันได้สะดวกเลย คนที่เห็นจนเริ่มโปรแล้วจึงมักจะแนะนำว่า ให้ทำเป็นมองไม่เห็นไปก่อน เหมือนตำราไทยที่ว่า ถ้าเห็นอะไรอย่าทัก นั่นแหล่ะครับ

แต่กรณีนี้คงใช้ได้เฉพาะเวลาที่เห็นปุ๊บแล้วรู้ปั๊บว่าเป็นผีนะครับ ถ้ามาเหมือนคนเปี๊ยบเลยนี้ ก็พยายามทำเหมือนคนไม่รู้จัก อย่าไปมองไปจ้องเขามาก เจอคนแปลกหน้าทักมาก็อย่าเพิ่งรีบตอบ เขาอาจจะทักคนอื่นก็ได้นะครับ ถ้ามาสะกิด แตะตัวได้ ก็ค่อยว่ากันครับ

อ้อ ขอเสริมด้วยว่า แม้มองไม่เห็น ก็ไม่ควรไปกล่าวอะไรให้กับผีหรือผู้ตายครับ เพราะเคยมีกรณีที่มีคนไปบอกว่าน่าสงสาร หรือขอให้ไปสู่สุคติ แล้วมีผีตามมาอยู่ด้วยหรือมาขอส่วนบุญ กลายเป็นเรื่องผีมาเล่ากันเลยทีเดียวครับ

แต่ถ้ารู้สึกคุ้นหน้า คิดว่าเป็นญาติหรือคนใกล้ตัว เข้าอาจจะมาหาหรือมาเตือนก็ได้ครับ ฟัง ๆ ไว้ก่อนก็ดีครับ

ประสานสัญลักษณ์มือ

ประสานสัญลักษณ์มือ

หรือถ้าใครอ่านเรื่องนารูโตะบ่อย ๆ ก็คือการเข้าอิน (手印) นั่นแหล่ะครับ ชุอินหรือสัญลักษณ์มือนี่มีมายาวนานทั้งในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน วิถีองเมียว และนินจาครับ

สำหรับการประสานสัญลักษณ์มือที่ง่าย ๆ และได้ผลที่สุดก็คือ สัญลักษณ์ของอจลวิทยราช (不動明王 ฟุโดเมียวโอ) ซึ่งเป็นการนำหลังมือมาประสานกัน พับผ่ามือเข้าหากัน ปล่อยนิ้วชี้ให้เหยียดตรง บริเวณกลางนิ้วถึงปลายนิ้วของมือทั้งสองข้างประกบกัน เอานิ้วโป้งเหยียดไขว้กันครับ เชื่อว่ามีผลในการป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ดีที่สุด เพราะวิทยราชในความเชื่อของทางมหายานคือ เทพผู้ปกป้องพระพุทธศาสนาครับ เชื่อกันว่ากการทำสัญลักษณ์มือนี้จะเป็นการอาราธนาพลังอำนาจของท้าวอจละให้มาช่วยคุ้มครองครับ

นอกจากนี้ สัญลักษณ์มือนี้ยังเป็นหนึ่งใน คุจิ (九字 นวอักขระ อักขระทั้งเก้า) ที่มักใช้ในการไล่ผีด้วยครับ ถ้าใครดูอนิเมะเรื่องเซเลอร์มูน คงพอจำที่เซเลอร์มาร์สที่เป็นมิโกะชอบท่องกันได้นะครับ อักขระทั้งเก้า คือ

ริน (臨 / Rin)

ท่าเดียวกับสัญลักษณ์ของท้าวฟุโดเมียวโอ

เปียว (兵 / Pyo)

จากสัญลักษณ์ริน เอานิ้วกลางไขว้ทับนิ้วชี้ของมือฝั่งเดียวกัน นิ้วโป้งเหยียดตรงเรียงชิดติดกัน

โทะ (闘 / To)

อันนี้ยากขึ้นมานิดนึง ขึ้นแรกให้กางมือออกแล้วคว่ำมือลง เอานิ้วชี้ขวาทับนิ้วชี้ซ้าย ให้ปลายนิ้วชี้วางระหว่างโคนนิ้วกลางและนิ้วนางของมืออีกข้าง (ทำเหมือนกันทั้งสองข้าง) จากนั้นพับนิ้วกลางลงมาทับ ให้ปลายนิ้วกลางอยู่ที่บริเวณฝ่ามือ หันฝ่ามิอเข้าหากันให้หลังนิ้วกลางมาประกบกัน นิ้วโป้ง นิ้วนางและนิ้วก้อยเหยียดตรงให้ปลายนิ้วของมือทั้งสองข้างประกบกัน

ฉะ (者 / Sha)

ยากพอ ๆ กับสัญลักษณ์ที่แล้ว เริ่มจากทำมือเป็นอุ้งเหมือนจะวักน้ำ จากนั้นเอาปลายนิ้วนางวางที่ระหว่างโคนนิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้าง นิ้วนางขวาวางทับนิ้วนางซ้าย เอานิ้วกลางพับลงมายึดไว้ ใช้นิ้วโป้งกดที่ปลายนิ้วกลางให้อยู่ในท่า จากนั้นเอาปลายนิ้วชี้และปลายนิ้วก้อยของทั้งสองข้างมาประกบกัน นิ้วโป้งทั้งสองข้างเรียงชิดติดกัน

ไค (皆 / Kai)

ประสานมือแบบสลับนิ้ว แล้วกำ

จิน (陣 / Jin)

ปล่อยมือจากท่าที่แล้วและเอาปลายนิ้วลงไปซ่อนแทน

เร็ตสึ (烈 / Retsu)

เหยียดปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางของมือซ้ายขึ้น เอามือขวากำนิ้วทั้งสองไว้

ไซ (在 / Zai)

กางมือออก ให้ปลายนิ้วโป้งและปลายนิ้วชี้ของทั้งสองมือแตะกัน

เซ็น (前 / Zen)

กำมือซ้ายแล้วเอามือขวารองไว้

ซึ่งเป็นตัวคันจิจากประโยคที่ว่า 臨む兵、闘う者、皆 陣烈(裂)れて(きて)前に在り ซึ่งแปลคร่าว ๆ ได้ว่า ”ขออัญเชิญเทพศึกผู้เป็นทัพหน้า เทพผู้ร่วมศึกทุกผู้ทุกนาม มาตั้งทัพ ณ เบื้องหน้าข้าพเจ้า” คล้าย ๆ กับการอัญเชิญเทพศึกทั้งหลายมาช่วยคุ้มครองครับ ถ้าเทียบกับของไทยก็คงคล้าย ๆ บทมงคลจักรวาล 8 ทิศนั่นเอง แต่เดิมเป็นบทสวดหนึ่งบทเพื่อเชิดชูท้าวสวรรค์ผู้คุ้มครองพระพุทธศาสนาในลัทธิเต๋า คาดว่าเข้ามาพร้อมศาสนาพุทธจากจีน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจนกระทั้งสมัยเอโดะครับ ในปัจจุบันยังใช้ในการทำพิธีปัดรังควาน แต่นิยมสวดเป็นคำ ๆ มากกว่าการประสานสัญลักษณ์มือครับ ใครมีเวลาว่างลองไปฝึกไว้ก็ได้ครับ

ตบหลัง

ตบหลัง

สำหรับกรณีที่มองไม่เห็น แต่รู้สึกขนลุก วิงเวียน รู้สึกคลื่นไส้ อยากไอหรือสำลักอะไรออก ที่ญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเป็นผลจากการที่ผีหรือวิญญาณได้เข้ามาแฝงในร่างกายครับ เทพพิทักษ์ประจำตัว (守護霊 ชุโกะเร) อาจจะช่วยขับสิ่งไม่ดีออกจากร่างด้วยอาการดังกล่าวครับ (ในไทยก็เทียบได้กับการอาเจียนเมื่ออาบหรือกินน้ำมนต์เวลาที่โดนของมา)

และยังเชื่อกันว่า ถ้ามีคนที่มีสัมผัส (หรือไม่มีก็ตาม) มาช่วยตบหลังให้ จะช่วยขับไล่ผีออกไปได้ เป็นการส่งพลังปราณให้อีกคนช่วยขับสิ่งไม่ดีออกจากร่าง ถือเป็นวิธีการปัดรังควานที่ง่ายที่สุดเวลาไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมาครับ แต่สำหรับคนที่ไม่มีสัมผัสหรือไม่รู้วิธีป้องกันตัว เวลาไปตบหลังให้คนอื่น อาจจะโดนผีตามเอาเสียเองก็ได้ครับ ดังนั้นคนที่ทำควรเป็นคนดวงแข็งพอสมควร หรือมีเทพพิทักษ์ประจำตัวที่แรงพอควรครับ และก็ควรรีบทำก่อนออกจากสถานที่นั้น ๆ ยิ่งถ้ารู้บทสวดหรือพระสูตรด้วย ให้เขาท่องแล้วตบหลังให้ก็ดีครับ จะเอาบท นวอักขระ ข้างบนก็ได้ครับ แล้วปิดด้วย อะคุเรียวไทซัง (悪霊退散 วิญญาณร้ายจงหายไป) แล้วก็ตบหลังครับ (ไม่ต้องฟาดแรงมากนะครับ เดี๋ยวที่ออกจะเป็นวิญญาณเพื่อนซะเองแบบในหนังเรื่องหนึ่ง...)

ใช้เกลือ

ใช้เกลือ

เป็นความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณตามตำนานเทพปกรณัมญี่ปุ่นที่ว่าด้วยเรื่ององค์อิซานากิกลับจากยมโลกหลังไปหาภรรยาที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งในพิธีการชำระล้างร่างกายนั้นก็ได้ใช้น้ำจากทะเลด้วย

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่คนทั่วไปทำได้ แต่ก็จำเป็นต้องเตรียมเกลือหรือหาซื้อเกลือเพื่อมาใช้ในการนี้ครับ ทั้งนี้ เกลือที่ใช้ได้ไม่ใช่เกลือทั่วไปนะครับ ต้องเป็นเกลือธรรมชาติที่ทำจากน้ำทะเล 100% ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการนำพลังการชำระล้างให้บริสุทธิ์มาจากทะเลโดยตรง ที่นิยมมากก็คือเกลือหยาบที่เรียกว่า อะราจิโอะ (粗塩) เกลือที่ใช้เพื่อการนี้ยังอาจจะแบ่งออกได้อีกตามประเภทการใช้งาน คือ

  • โมจิชิโอะ (持ち塩 เกลือพกพา) ใช้พกติดตัวเพื่อเป็นเครื่องรางคุ้มกันจากสิ่งไม่ดี รวมไปถึงการโรยตามจุดที่คิดว่ามีผีหรือการกินเกลือจำนวนหนึ่งเพื่อขับไล่ผีจากภายใน แต่กินแค่จำนวนพอประมาณนะครับ ใช้ปลายนิ้วแตะแล้วเลียก็พอแล้ว
  • โมริชิโอะ (盛り塩 เกลือกองพูน) มักจะใช้เทใส่จานให้เป็นกองพูน ๆ เพื่อนำไปวางตามโถงทางเข้าหรือทิศประตูผี เพื่อกันสิ่งชั่วร้ายเข้ามา
  • โอคิโยเมะชิโอะ (お清め塩 เกลือชำระล้าง) มักจะแจกตามงานศพเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชำระล้างสิ่งไม่ดีที่อาจจะติดมาจากงานศพหรือติดมาเข้างานครับ นอกจากนี้ยังใช้ชำระของประดับช่วงปีใหม่ก่อนนำไปทิ้งด้วย

ซึ่งในกรณีที่คิดว่าจะไปในที่ที่เสี่ยงเจอผี จะซื้อเกลือผงตามร้านสะดวกซื้อหรือใส่ถุงซิปล็อคพกไปก็ได้ครับ หากคิดว่าเจอผีแล้วก็จะกินเกลือหรือโรยที่ร่างกายตามจุดที่คิดว่ามีผีมาเกาะอยู่ก็ได้ครับ

แวะที่อื่น

แวะที่อื่น

ถ้าผีตามมาแล้ว การตรงกลับบ้านจะทำให้ผีรู้บ้านและตามรังควานได้ครับ คนที่ญี่ปุ่นบางส่วนจะกลัวผีตามกลับบ้าน จึงไปอยู่ตามร้านสะดวกซื้อบ้าง เน็ตคาเฟ่บ้าง ค้างบ้านเพื่อนบ้าง (ให้เพื่อนโดนหลอกไปด้วยกัน) หรือรอจนเช้าแล้วไปที่วัดหรือศาลเจ้าที่รับทำพิธีปัดรังควานให้ครับ

หรือถ้าตามวัดหรือศาลเจ้ามีการสร้างเขตคุ้มกันไว้อย่างดี ผีมักจะตามเข้าไปไม่ได้ จะลองอธิษฐานขอให้ช่วยเอาดวงวิญญาณที่อาจติดตามออกก็ยังได้ครับ (ยกเว้นเฉพาะเทพพิทักษ์ประจำตัวไว้) ผีจะได้ไม่ตามไปถึงบ้าน เพื่อความสบายใจ และสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอจนเช้า แต่เวลาออกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น ๆ ก็ควรเลือกออกเส้นทางอื่นดีกว่าครับ

นอกจากนี้ยังมีการเช่าเครื่องรางด้วย โดยเครื่องรางที่ได้ผลมากในกรณีนี้คือ

  • มิกาวาริโอมาโมริ (身代り御守 เครื่องรางรับเคราะห์แทนตัว) ปลุกเสกมาเพื่อคอยรับเคราะห์แทนผู้ครอบครอง
  • ยาคุโยเกะโอมาโมริ (厄除御守 เครื่องรางไล่สิ่งชั่วร้าย) คอยขับไล่สิ่งไม่ดีออกให้

ถ้ารอจนเช้าได้ ก็ลองไปขอให้ทำพิธีปัดรังควาน หรือที่เรียกกันว่า โอฮาราย (お祓い) ดูก็ได้ครับ แต่ราคาอาจจะแพงบ้างถูกบ้างตามสถานที่ ราคามีตั้งแต่ 5,000 เยนถึง 50,000 เยน โดยที่ที่รับทำพิธีก็ได้แก่

  • วัด (お寺) ให้ลองสอบถามพระ (お坊さん โอโบซัง หรือ 僧侶 โซเรียว)
  • ศาลเจ้า (神社) ให้ลองสอบถามจากผู้ดูแลเทพ (神主 คันนูชิ)
  • คนทรง (霊媒師 เรไบฉิ) อาจจะหายากกว่าวัดหรือศาลเจ้า และอาจจะเจอพวกต้มตุ๋นเอาก็ได้ อาจเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโดนทั้งผีทั้งคนหลอกเอา แต่ถ้าเจอคนจริงก็โชคดีไปครับ

ไว้คราวหน้าเราจะมาดูวิธีการรับมือในกรณีอื่น ๆ กันบ้างนะครับ

อ่านบทความอื่นได้ที่นี่>>>เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend