เคนดามะคืออะไร? ขอแนะนำประวัติและชื่อ กฎและลูกเล่นกันอย่างละเอียด!

  • 28 กุมภาพันธ์ 2019
  • FUN! JAPAN Team

ของเล่นที่ทำด้วย "เคน" (けん หรือ 剣 ดาบ) รูปทรงไม้กางเขน และ "ทามะ" (玉 ลูกบอล วัตถุทรงกลม) ที่เจาะรูไว้ "เคนดามะ" ในประเทศญี่ปุ่นมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการสำหรับเทคนิคที่ได้รับการสนับสนุนโดย "สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น" (日本けん玉協会) และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เราจะมาแนะนำประวัติ ชื่อของแต่ละส่วน เคล็ดลับที่มือใหม่ควรรู้เป็นครั้งแรก ฯลฯ การเล่นก็ไม่ได้ใช้แค่มือและแขนเท่านั้น ใช้ทั้งหัวเข่าและต้นขารวมถึงนิ้วมือด้วย จึงเป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆได้ด้วยนะ!

ประวัติของ "เคนดามะ"

อาจมีหลายคนที่คิดว่า "เคนดามะ" เป็นของเล่นที่ไม่เหมือนใครในญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่เชิงค่ะ การละเล่นด้วยการเหวี่ยงลูกบอลที่เชื่อมต่อกันด้วยเส้นด้ายหรือเชือกและรับลูกบอลด้วยแก้วหรือไม้ที่คล้ายกับเคนดามะนั้นก็มีทั่วโลกค่ะ

เรื่องราวเกี่ยวกับที่มาต้นกำเนิดนั้นมีหลายทฤษฏีมาก แต่ในบันทึกที่เก่าแก่ที่สุด มีการกล่าวกันว่าสามารถตามรอยย้อนที่มาได้จากฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 ในฝรั่งเศสเรียกว่า "Bilboquet" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นิยมอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีช่วงเวลาที่ขุนนางชั้นสูงได้เล่นกันจนชินมือ หลังจากนั้นมันแพร่กระจายไปทั่วโลก ว่ากันว่าแต่ละที่ก็มีการพัฒนาการเล่นนี้แตกต่างกันไปค่ะ

ส่วนการเข้ามาในญี่ปุ่น ทฤษฎีที่ว่าถูกนำเข้ามาในสมัยเอโดะนั้นน่าเชื่อถือที่สุด ส่วนต้นแบบของเคนดามะในลักษณะปัจจุบันนั้นถูกทำขึ้นในสมัยไทโช เนื่องจากมีลักษณะเป็นถ้วยตื้นๆ คล้ายดวงจันทร์เสี้ยวและลูกบอลทรงกลมก็ให้ความหมายคล้ายพระอาทิตย์ จึงถูกเรียกว่า "นิจิเก็ตสึบอล" (日月ボール บอลอาทิตย์จันทร์) เป็นกระแสฮิตครั้งใหญ๋ ในปี 1975 มีการก่อตั้ง "สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น" ขึ้น มีการพัฒนา "เคนดามะเพื่อการแข่งขัน" พร้อมกำหนดกฎระเบียบที่เป็นทางการ การจัดตั้งระดับความยากและขั้นตอน เทคนิคการเล่นก็พัฒนาซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย

ชื่อของส่วนประกอบของเคนดามะ

เคนดามะประกอบด้วยส่วนใหญ่ 5 ส่วน คือ "ทามะ" (玉 ลูกบอล) "เคน" (けん ดาบ - ด้ามจับ) "ซาราโด" (皿胴 แกนถ้วย) "อิโตะ" (糸 ด้าย) และ "บีดส์" (ビーズ ลูกประคำ)

ลูกประคำคือส่วนที่ป้องกันไม่ให้เส้นด้ายคลายเกลียว จะถูกผูกติดกับปลายด้ายและใส่ไว้ในรูของลูกบอล ช่วงให้หลังมานี้มีเคนดามะไฮเทคจำนวนมากอย่างอันที่มีเสียงหรือส่งแสงสว่างเวลาเล่นออกมาวางขายกันด้วยค่ะ

มาลองท้าทายกับเทคนิคการเล่นเคนดามะกัน!

โอซาระ (大皿 - ถ้วยใหญ๋)

เทคนิคที่ดึงลูกบอลขึ้นแนวตั้งมาวางบนถ้วยใหญ่ ประเด็นสำคัญคือการรักษาจังหวะ "หนึ่ง สอง สาม" ให้คงที่

  1. ถือเคนดามะโดยการใช้นิ้วโป้งชี้กลางบีบที่ด้ามจับส่วนที่ติดโคนแกนถ้วยฝั่งโคนด้ามจับ ใช้นิ้วนางและนิ้วก้อยประคองที่ปลายถ้วยเล็ก ชี้ปลายแหลมด้ามจับลงข้างล่าง ปล่อยลูกบอลลงในแนวดิ่ง
  2. เมื่อลูกบอลหยุดแกว่งอย่างสมบูรณ์ ย่อเข่าลงและเหยียดแขนลงเพื่อให้ลูกบอลเคลื่อนที่ลงในแนวดิ่งจนเกือบสัมผัสพื้น (จังหวะหนึ่ง)
  3. เหยียดตัวขึ้นพร้อมดึงบอลขึ้นในแนวดิ่งตรงๆ (จังหวะสอง)
  4. ย่อเข่าลงพร้อมกับเหยียดแขนบิดข้อมือและนำด้ามจับไปไว้ใต้ลูกบอลแล้วรับลูกบอลด้วยถ้วยใหญ่ (จังหวะสาม)

โรโซคุ (ろうそく - เทียน)

เทคนิคในการดึงลูกบอลขึ้นวางบนถ้วยกลางโดยจับด้ามจับส่วนที่ติดกับแกนถ้วยฝั่งปลายด้ามจับ มันถูกเรียกว่า "โรโซคุ" หรือ เทียนเพราะดูคล้ายเทียนที่มีเปลวไฟ (ลูกบอลเป็นเปลวไฟ)

  1. ไม่ใช้ฝ่ามือ จับที่ปลายด้ามจับส่วนที่ติดกับแกนถ้วยโดยใช้ปลายปลายนิ้วบีบ
  2. เอียงด้ามจับเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ด้ายสัมผัสกับมือ ปล่อยด้ายลงแนวดิ่งตรงๆ ย่อเข่าลงจนลูกบอลเกือบสัมผัสพื้น
  3. เหยียดตัวขึ้นพร้อมดึงลูกบอลขึ้นในแนวดิ่ง
  4. เอียงด้ามจับกลับมาให้ถ้วยกลางอยู่ในแนวระนาบ (ปลายด้ามจับชี้ลงแนวดิ่ง) ย่อตัวลงรับลูกบอลโดยใช้ถ้วยกลาง(โคนด้ามจับ)

นิฮอนอิชชู (日本一周 เที่ยวรอบญี่ปุ่น)

เป็นเทคนิคซับซ้อนระดับสูงโดยใช้เทคนิคการเล่นสามอย่าง คือ  "ถ้วยใหญ๋ → ถ้วยเล็ก → ปลายด้ามจับ" แบบต่อเนื่อง

  1. จับที่โคนของด้ามจับโดยให้ปลายด้ามจับชี้ขึ้นและหันถ้วยใหญ่เข้าหาตัวเอง
  2. ย่อเข่าลง ดึงลูกบอลขึ้นด้วยแรงจากการเหยียดตัวขึ้น ย่อตัวลงรับลูกบอลด้วยถ้วยเล็ก
  3. เหยียดตัวขึ้นพร้อมโยนลูกบอลขึ้น ย่อตัวลงรับลูกบอลด้วยถ้วยใหญ่
  4. เหยียดตัวขึ้นพร้อมโยนลูกบอล ย่อตัวลงรับลูกบอลด้วยปลายด้ามจับ

เซไคอิชชู (世界一周 เที่ยวรอบโลก)

เทคนิคการเล่นที่เพิ่มถ้วยกลางเข้าในเทคนิค "เที่ยวรอบญี่ปุ่น"

  1. ทำเหมือน "เที่ยวรอบญี่ปุ่น" แต่จับด้ามจับโดยชี้ปลายด้ามจับไปทางซ้ายมือ ย่อตัว เหยียดตัวขึ้นพร้อมดึงลูกบอลขึ้น รับด้วยถ้วยเล็ก
  2. จากถ้วยเล็ก โยนบอลขึ้นเปลี่ยนไปถ้วยใหญ่ จากถ้วยใหญ่ไปถ้วยกลาง (โคนด้ามจับ)
  3. ย่อตัวลงแล้วเหยียดตัวพร้อมโยนลูกบอลขึ้น รับลูกบอลด้วยปลายด้ามจับ

โทได (灯台 - ประภาคาร)

เทคนิคที่ยากมากที่หลายๆคนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องชำนาญให้ได้

  1. มือขวาจับที่ลูกบอล ยืดเส้นด้ายให้ตรงดิ่งโดยให้ด้ามจับอยู่ข้างล่าง
  2. ใช้มือซ้ายประคองด้ามจับเบาๆ ใช้มือซ้ายหันถ้วยเล็กไปข้างหน้า จากนั้นปล่อยมือซ้ายออกให้ด้ามจับห้อยลง
  3. ใช้การย่อ-เหยียดตัวดึงด้ามจับขึ้นในแนวดิ่ง
  4. นำลูกบอลไปไว้ใต้ด้ามจับที่ถูกดึงขึ้น รับด้ามจับโดยให้ถ้วยกลาง (โคนด้ามจับ) ตั้งบนลูกบอลพอดี ทรงตัวด้ามจับบนลูกบอลไว้นิ่งๆประมาณ 3 วินาที

เชื่อว่าคงมีหลายคนที่คิดว่าแค่อ่านก็ยากแล้วกันนะคะ แต่ไม่ลองก็ไม่รู้ค่ะ! หากคุณฝึกฝนและเข้าใจเคล็ดลับ คุณก็ทำได้ค่ะ! เคนดามะมีความน่าสนใจในเรื่องการพัฒนาเพิ่มทักษะเทคนิคการเล่น และ "สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น" มีการรับรองระดับ (級 คิว) และขั้น (段 ดั้ง) ทักษะความสามารถด้วย หากคุณสนใจเรื่องนี้ด้วยแล้วละก็ ลองไปดูข้อมูลได้ค่ะ!

※เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น (ภาษาอังกฤษ) http://kendama.or.jp/english/

※คลิปวิด๊โอด้วยความอนุเคราะห์จาก: สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend