<< Geisha >> อาชีพผู้รักษาศิลปวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น (。◕ ‿ ◕。✽)

  • 20 ธันวาคม 2018
  • FUN! JAPAN Team

“เกอิชา” อาชีพที่คอยให้ความบันเทิงแก่ลูกค้าด้วยศิลปะญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม มีทั้งการร่ายรำ, เล่นเกมส์, ขับร้อง, บรรเลงเพลงหรือนั่งคุย แต่อย่าเข้าใจผิด!! เกอิชาขายแต่ศิลปะไม่ขายบริการทางเพศนะ และเกอิชายังคงยังคงมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย

อีกทั้งเกอิชายังคงเป็นอาชีพที่ต้องหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ ต้องมีความรู้รอบตัวในทุกเรื่อง ต้องฉลาดหลักแหลมและตามโลกให้ทัน เพราะหนึ่งในการสร้างความบันเทิงของเกอิชาคือ “การนั่งคุย” ที่จะต้องสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายชนชั้น และไม่เพียงแต่นั่งคุย เกอิชายังต้องบ่มเพาะวิธีการปรนนิบัติ, มารยาททางสังคมและที่สำคัญที่สุด ต้องเก็บความลับของลูกค้าให้ได้

สิ่งที่จะทำให้เกอิชาคนหนึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ลูกค้า คือ ความฉลาดหลักแหลมและเสน่ห์การพูดจา จึงต้องมีวาทศิลป์การพูดคุยตั้งแต่เรื่องจิปาถะทั่วไปในชีวิตประจำวันไปจนถึงสังคม, เศรษฐกิจ, การเมืองและเรื่องราวในต่างประเทศกันเลยทีเดียว

แม้ว่าจำนวนเกอิชาจะลดลงไปตามยุคสมัย เกอิชาในปัจจุบันก็เริ่มที่จะถูกวัฒนธรรมในปัจจุบันกลืนไปแล้ว ยังคงเหลือให้เห็นเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ยังคงความนิยมในคนหมู่หนึ่งอยู่

อาชีพ ”เกอิชา” มีหน้าที่อะไร

คำว่า "เกอิชา" นั้น ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า "เกชะ" ซึ่งคำว่า”เก” แปลว่าศิลปะ โดยเกอิชามีต้นกำเนิดที่เมืองเกียวโต ราวศตวรรษที่ 17 (ยุคเอะโดะ)และในปัจจุบันยังคงพบเห็นเกอิชาได้ในย่านกิอง จังหวัดเกียวโต โดยเฉพาะในงานเทศกาล “กิอง มัตซึริ” (Gion Matsuri) ช่วงเดือนกรกฎาคม

เกอิชา คือ ผู้สร้างความบันเทิงให้แก่คนมีฐานะและคนมีอำนาจ เดิมทีลูกค้าของเกอิชาเป็นซามูไร, เหล่าไดเมียวและโชกุน แต่ในปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ของเกอิชา คือ บรรดานักการเมือง, นักแสดงและผู้บริหารระดับสูง ที่มักจะจ้างเกอิชาเป็นรายชั่วโมง เพื่อมาสร้างความบันเทิงในขณะรับประทานอาหารในร้านอาหารพื้นเมืองของญี่ปุ่นหรือโรงน้ำชา โดยการเจรจาธุรกิจส่วนใหญ่จะราบรื่นขึ้นเมื่อมีเกอิชาอยู่ในวงการเจรจานั้น

เกอิชาจะได้รับการฝึกศิลปะแขนงต่างๆจนชำนาญจากเจ้าสำนัก พวกเธอจะต้องเป็นทั้งนักดนตรี ทั้งผู้ขับร้องและร่ายรำ รวมถึงการชงชา, การจัดดอกไม้และการขับขานบทกวี ตลอดจนการเรียนรู้เรื่องกิริยามารยาท การวางตัวในสังคม แต่ที่สำคัญที่สุด คือต้องเป็นคู่สนทนาที่ดีสำหรับลูกค้า

การแต่งหน้าขาวของเกอิชาจะใช้แป้งผสมน้ำมาทาลงบนใบหน้าและลำคอเหมือนลบหน้าเดิมทิ้ง เว้นการทาแป้งที่บริเวณหลังคอเป็นลายให้เห็นสีผิวจริง เขียนคิ้วขึ้นใหม่ด้วยสีดำเจือสีแดงเรื่อๆให้เหนือคิ้วเดิมขึ้นไปเล็กน้อย หางตาตกแต่งด้วยสีแดง ริมฝีปากทาด้วยสีแดงสด

การเป็นเกอิชาถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้หญิงญี่ปุ่นภูมิใจมาก แต่หญิงที่ทำอาชีพนี้ในอดีตต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวในการครองตัวเป็นโสด แต่ในปัจจุบันผู้ที่ทำอาชีพเกอิชาสามารถลาออกไปแต่งงานและเปิดสำนักเพื่อสอนเกอิชาได้

การฝึกเป็นเกอิชา

กว่าจะได้เป็นเกอิชานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องได้รับการอบรมศิลปวิทยาการมาตั้งแต่เด็กๆ ในอดีตสำนักเกอิชาจะซื้อตัวเด็กหญิงมาจากครอบครัวที่ยากจนแล้วนำมาเลี้ยงดู โดยจะเริ่มฝึกฝนจากการทำงานบ้านทั่วไป และคอยติดตามรับใช้เกอิชารุ่นพี่

พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะได้เรียนศิลปะหลากหลายแขนง เช่น การเล่นดนตรี, การขับร้อง, การร่ายรำ, การชงชา, การจัดดอกไม้ รวมถึงเรื่องบทกวีและวรรณคดี โดยเฉพาะศิลปะแห่งความงามของเกอิชา

เด็กที่อยู่ในช่วงฝึกหัดการเป็นเกอิชาจะถูกเรียกว่า “ไมโกะ” ซึ่งไมโกะจะคอยติดตามเกอิชารุ่นพี่ไปตามร้านน้ำชาหรืองานสังสรรค์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้มารยาทในการรับลูกค้าและสันทนาการความบันเทิงให้กับลูกค้า ทำให้ได้ประสบการณ์ทำงานจริงและเพิ่มความชำนาญ ก่อนจะสอบเลื่อนขั้นเพื่อจะได้เป็น”เกอิชา”

หญิงที่จะเป็นเกอิชาได้ไม่จำเป็นต้องผ่านการเป็นไมโกะก่อนเสมอไป แต่หญิงคนไหนที่ได้ผ่านการเป็นเป็นไมโกะมาก่อนจะได้รับการถ่ายทอดศิลปะและการใช้เสน่ห์มาอย่างชำนาญ ดังนั้นตำแหน่งไมโกะของเกอิชาที่เก่งกาจจึงมักเป็นที่อิจฉาอยู่เสมอ

ปัจจุบันด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้เกอิชาในประเทศญี่ปุ่นลดจำนวนลงเรื่อยๆ แต่ถึงแม้จะมีสถานบันเทิงสมัยใหม่ผุดขึ้นมากมายแต่ก็ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ยังคงชื่นชอบวัฒนธรรมนี้อยู่

เกอิชาในปัจจุบัน

แม้ในอดีตเกอิชามีทั้งผู้ที่สมัครใจจะเป็นและคนที่ถูกซื้อตัวมา แต่คนที่เป็นเกอิชาในปัจจุบันนั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจของตนเอง การฝึกฝนอาชีพจะเริ่มต้นที่หญิงสาวช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ไม่ใช่เด็กหญิงอย่างในอดีต และจะใช้เวลาที่ยาวนานและยุ่งยากมากกว่าเพราะฝึกเมื่ออายุมาก

ชุดและเครื่องประดับผมของเกอิชาจะต้องเป็นชุดที่งามล้ำและมีราคาสูง ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติแก่ลูกค้าที่มาว่าจ้างเธอ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเกอิชาจึงสูงตาม

โดยปกติเกอิชามักมีผู้อุปถัมภ์ที่เรียกว่า”ดันนะ” คอยดูแลให้การสนับสนุนในเรื่องการเงิน แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงของพวกเธอ ทำให้ปัจจุบันมีเกอิชาน้อยคนที่จะมีผู้อุปถัมภ์ ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรหรือบริษัทที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์ เพื่อให้เกอิชามาแสดงเมื่อบริษัทมีงานสำคัญ

ความแตกต่างของเกอิชากับโออิรัน

จากหนังเรื่อง “The memory of Geisha” ทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของเกอิชาเป็นอย่างมาก บทบาทของหญิงในเรื่องที่ถูกนำเสนอโดยชาวตะวันตกจะเป็นไปทาง”โออิรัน”ซึ่งเป็นหญิงขายบริการมากกว่าจะเป็นการนําเสนอภาพลักษณ์ของเกอิชาจากภาพพจน์ของเจ้าของวัฒนธรรม

เกอิชาจะขายศิลปะแต่โออิรันจะขายเรือนร่าง เกอิชากับโออิรันมีความแตกต่างกันพอสมควร โดยสังเกตอย่างง่ายจากการแต่งตัว โดยที่โออิรันจะผูกโอบิไว้ข้างหน้ เพื่อความสะดวกในถอดชุดออกและใส่ชุดใหม่ได้ดวยตัวเอง ในขณะที่เกอิชามีผูกโอบิจากข้างหลังตามแบบชุดกิโมโนของหญิงชาวญี่ปุ่นทั่วไป เครื่องประดับผมของโออิรันจะมีความอลังการและมีน้ำหนักมากกว่าเกอิชามาก


หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend