【วัฒนธรรมญี่ปุ่น】"วันซากุระ" คือวันที่เท่าไหร่? มาดูที่มาและกิจกรรมในวันนี้กัน

เมื่อพูดถึงญี่ปุ่น คุณจะนึกถึงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันไหนคะ? หลายคนอาจจะนึกถึงภูเขาไฟฟูจิที่ถูกวาดในภาพพิมพ์อุกิโยะเอะ หรือ "ซากุระที่บานเต็มที่" ที่ถูกพรรณนาตามละครและอนิเมะญี่ปุ่นสินะคะ วันนี้เราจะแนะนำวันพิเศษที่เกี่ยวข้องกับซากุระที่ถูกจัดตั้งขึ้นในญี่ปุ่นกันค่ะ

วัฒนธรรมญี่ปุ่นและซากุระ

ก่อนที่เราจะเริ่มเรื่องวันพิเศษที่ว่า มาเริ่มกันด้วยการรู้ลึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและซากุระกันก่อนจาก 3 แง่มุม อันได้แก่ "ซากุระในฐานะพืช" "ซากุระในฐานะวัฒนธรรม" และ "ซากุระที่อยู่ในชีวิตประจำวัน" ค่ะ

ซากุระในฐานะพืช

ตามที่นิตยสารประชาสัมพันธ์ของกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นระบุไว้ ไม่ใช่ว่ามีพืชชนิดเดียวที่เรียกว่าซากุระ แต่จริงๆ แล้วมีซากุระถึง 10 ชนิดในญี่ปุ่น รวมถึงชนิดที่พบในธรรมชาติด้วยค่ะ

ชื่อชนิดเฉพาะ

ยามะซากุระ (ヤマザクラ / Yamazakura) - ซากุระป่า

พันธุ์ที่มีกลีบดอกสีขาวเกือบบริสุทธิ์ และออกใบอ่อนสีน้ำตาลแดงในช่วงเวลาเดียวกับการผลิดอกค่ะ

เอโดะฮิกัง (エドヒガン / Edohigan)

เนื่องจากใบยังไม่งอกในช่วงที่ดอกบาน สีของกลีบดอกสีขาวถึงชมพูอ่อนๆ จึงโดดเด่นมาก

โอชิมะซากุระ (オオシマザクラ / Oshima Sakura)

เป็นสายพันธุ์ป่าที่กระจายอยู่บนเกาะโอชิมะในหมู่เกาะอิซุ กลีบดอกเป็นสีขาวบริสุทธิ์โดยที่ไม่มีสีแดงเลย และใบอ่อนสีเขียวจะงอกขึ้นในเวลาเดียวกับการผลิดอกค่ะ

แน่นอนว่าซากุระที่สามารถพบเห็นได้ในญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดเพียงที่นี่เท่านั้น ยังมีซากุระที่เป็นพันธุ์ที่เพาะขึ้น นั่นก็คือถูกสร้างสายพันธุ์ใหม่ขึ้นด้วยมือของมนุษย์ค่ะ ตัวอย่างเช่น หากถามว่า "ถ้าพูดถึงดอกซากุระ จะนึกถึงสายพันธุ์ไหน?" ในญี่ปุ่นในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงชื่อของพันธุ์ "โซเมโยชิโนะ" ค่ะ ซึ่งไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงที่จะบอกว่าเป็นคำที่ใช้แทนซากุระได้เลยค่ะ และสายพันธุ์นี้ก็อยู่ในหมวดหมู่สายพันธุ์ที่เพาะขึ้นค่ะ

ในความเป็นจริงแล้ว "โซเมโยชิโนะ" เป็นสายพันธุ์ที่ถูกเพาะขึ้นจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง "เอโดะฮิกัง" และ "โอชิมะซากุระ" มันถูกเพาะขึ้นที่หมู่บ้านโซเมในชานเมืองกรุงเอโดะ (ปัจจุบันคือโคมาโกเมะ เขตโทชิมะ มหานครโตเกียว) และเพราะว่ามันถูกปลูกขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย "การติดตาต่อกิ่ง" ที่ต้นไม้ถูกเชื่อมต่อกัน จึงเป็นข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจที่โซเมโยชิโนะทุกต้นที่พบทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นการโคลนจากต้นไม้ต้นฉบับเดียวกันทั้งหมดค่ะ

ซากุระในฐานะวัฒนธรรม

ซากุระที่ปรากฏในบทกวีร้อยคน

ซากุระได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ใน "Hyakunin Isshu" (百人一首 - บทกวีร้อยคน) ซึ่งยังคงได้รับความรักในปัจจุบันเป็น "การ์ดแข่งขัน" ของญี่ปุ่นค่ะ มีบทกวีที่กล่าวว่า "อินิชิเอะโนะนาระโนะมิยาโกะโนะยาเอะซากุระ เคียวโคโคโนเอะนิ นิโออินารุคานะ" (いにしへの 奈良の都の 八重桜 けふ九重に 匂ひぬるかな / Inishie no Nara no Miyako no Yaezakura Kyou Kokonoe ni Nioi nuru kana) บทกวีนี้ร้องเกี่ยวกับดอกซากุระกลีบซ้อนที่บานที่เมืองหลวงเก่านาระ และเมืองหลวงใหม่เกียวโต ใน "Hyakunin Isshu" ดอกซากุระได้ถูกเลือกเป็นธีมในบทกวีหลายๆ บทและยังคงถูกขับขานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันค่ะ

เพลงญี่ปุ่นที่มีธีมเกี่ยวกับดอกซากุระ

ในความหมายที่เป็นปัจจุบันของ "ถูกขับขานอย่างต่อเนื่อง" แล้ว ซากุระก็ได้รับการหยิบยกมาใช้ในเพลงจำนวนมาก ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "เพลงซากุระ" ของเพลงแนว J-POP ซึ่งเปิดตัวทุกปีเมื่อฤดูใบไม้ผลิเข้ามาเยือนค่ะ

บางเพลงที่มีชื่อเสียงจากช่วงยุคปี 2000 ก็ได้แก่ "Sakurazaka" ของ Masaharu Fukuyama, "Sakura (Solo)" ของ Naotaro Moriyama และ "SAKURA" ของ Ikimono Gakari บางคนอาจจะพูดถึงเพลง Vocaloid "Senbonzakura" ในฐานะเพลงตัวอย่างอันดับหนึ่งค่ะ

ฤดูกาลที่ดอกซากุระบานนั้นก็ตรงกับการจบการศึกษาของหลายๆ โรงเรียน พิธีปฐมนิเทศน์นักเรียนใหม่ และพิธีปฐมนิเทศน์พนักงานใหม่ของบริษัทในหลายภูมิภาค ดังนั้นจึงมี "เพลงซากุระ" จำนวนมากที่เกี่ยวกับการพบเจอผู้คนใหม่ๆ และการจากลาจากที่เก่า รวมทั่งยังมีการเพิ่มเพลงใหม่หลายเพลงที่พรรณนาถึงความผันผวนของโชคชะตาราวกลีบดอกซากุระซึ่งหลังจากบานเต็มที่ก็จะร่วงโรยไปค่ะ

ดอกซากุระที่ถูกนำมาใช้บนเงินและแสตมป์

นอกจากนี้ดอกซากุระยังถูกนำมาใช้บนสิ่งของที่ทุกคนควรจะเห็นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตประจำวันของพวกเขาในญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่นลองเปิดกระเป๋าเงินของคุณและหาเหรียญ 100 เยนดูนะคะ ในความเป็นจริงแล้ว ดอกไม้ที่ถูกพรรณนาที่ด้านตรงข้ามกับด้านที่มีคำว่า "100" บนเหรียญ 100 เยนที่หมุนเวียนอยู่ในญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ดอกไม้อื่น เป็นดอกซากุระนั่นเองค่ะ

ดอกไม้ที่แสดงในตราไปรษณียากร 63 เยน (ตราไปรษณียากรที่มีค่าส่งบัตรไปรษณีย์) ซึ่งขายที่ไปรษณีย์และที่อื่นๆ ก็เป็นดอกซากุระ (โซเมโยชิโนะ) ด้วยค่ะ

ที่มาของการจัดตั้ง "วันซากุระ"

ในประเทศญี่ปุ่น ซากุระซึ่งไม่สามารถแยกจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นวันพิเศษตรงกับวันที่ 27 มีนาคม ที่รู้จักกันในนาม "วันซากุระ" วันพิเศษนี้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1992 โดยสมาคมซากุระญี่ปุ่น สมาคมทำประโยชน์ต่อสาธารณะ วัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งคือ "เพิ่มความสนใจในดอกซากุระ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น และสร้างแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยดอกไม้และพืชผัก" อย่างไรก็ตาม เหตุผลในการแต่งตั้งวันที่ 27 มีนาคมให้เป็น "วันซากุระ" มาจากโกโระอาวาเสะ (เสียงช่วยจำ) ของ "3×9 (ซาคุ) = 27" และช่วงเวลา "ซากุระฮาจิเมะเตะฮิราคุ" (桜始開 / Sakura Hajimete Hiraku) ในการแบ่งปีเป็น 72 ฤดูกาล อันเป็นวิธีการแสดงฤดูกาลที่ถูกคิดค้นขึ้นในประเทศจีนค่ะ

ในที่นี่ เราจะอธิบายเล็กน้อยเกี่ยวกับ "โกโระอาวาเสะ" และ "72 ฤดูกาล" กันเล็กน้อยค่ะ "โกโระอาวาเสะ" เป็นวิธีแสนสนุกในการผสมผสานของคำอ่านและตัวเลขโดยการกำหนดการอ่านตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 หรือ 10 100 ฯลฯ ให้ตรงกับพยัญชนะญี่ปุ่น (หรือเสียงหลายเสียง) ค่ะ ในญี่ปุ่น มันถูกใช้บ่อยครั้งในการจำหมายเลข PIN หรือปีที่เกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ในกรณีนี้ เลข 3 ถูกกำหนดเป็นเสียง "สะ" หรือ "ซัง" และเลข 9 ถูกกำหนดเป็นเสียง "คิว" หรือ "คุ" ดังนั้น การผสมผสานของ 3 และ 9 สามารถอ่านได้ว่า "ซะ" และ "คุ" หรือ "ซาคุ" (咲く/ saku - 'บาน') ค่ะ

ส่วนแนวคิดเรื่อง "72 ฤดูกาล" ไม่ได้พบบ่อยในชีวิตประจำวันในญี่ปุ่น และเป็นแนวคิดที่หลายคนไม่คุ้นเคย นี่เป็นการอ้างถึง "24 ฤดูกาลทางสุริยะ" ที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทุกครึ่งเดือน และนำมาแบ่งย่อยอีกโดยแบ่งออกเป็นประมาณทุกๆ ห้าวัน ซึ่งช่วยแจ้งให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสัตว์พืช อนึ่ง "Risshun" (立春 - เริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ) นั้นก็เกี่ยวข้องกับวันเซ็ตสึบุน และ "วสันตวิษุวัต" (春分 / Shunbun) และ "ครีษมายัน" (夏至 / Geshi) ที่เกี่ยวข้องกับความยาวของเวลากลางวัน ก็รวมอยู่ใน 24 ฤดูกาลทางสุริยะนี้ค่ะ

ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "วันซากุระ"

ตามที่เราได้ตรวจสอบในปี 2024 ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะมีกิจกรรมใดๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง "วันซากุระ" ในวันที่ 27 มีนาคมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตามที่คำว่า "ซากุระฮาจิเมะเตะฮิราคุ" สื่อเป็นนัย นี่คือช่วงเวลาที่ดอกซากุระจะบานเต็มที่ทั่วประเทศ และ "เทศกาลซากุระ" ที่ต้อนรับผู้มาชมดอกซากุระจัดขึ้นที่ "สถานที่ชมดอกซากุระขึ้นชื่อ" ทั่วประเทศค่ะ

ตัวอย่างเช่นในโตเกียว "เทศกาลซากุระชิโยดะ" จัดขึ้นเป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนจากเขตชิโยดะ และสมาคมการท่องเที่ยวเขตชิโยดะค่ะ ในช่วงเทศกาลก็จะมีจัดกิจกรรมประจำปี เช่น การส่องไฟ LED ที่ "Chidorigafuchi Greenway" และการดำเนินการพิเศษในเวลากลางคืนของ "Ward-run Chidorigafuchi Boat Place"

นอกจากนี้ที่โยชิโนยามะ จังหวัดนาระ ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นสถานที่ชมดอกซากุระ ที่มีการปลูกต้นซากุระประมาณ 30,000 ต้น "เทศกาลดอกซากุระและการส่องไฟประดับดอกซากุระ" ก็จัดขึ้นทั้งที่โยชิโนยามะตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายนทุกปีค่ะ

โบนัส: ต้นซากุระบานเมื่อไหร่? วิธีทราบช่วงเวลาที่ดอกบาน

ซากุระถูกปลูกทั่วหมู่เกาะญี่ปุ่น แต่เนื่องจากความแตกต่างของภูมิอากาศ ระยะเวลาที่ดอกไม้บานจึงแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค มีเว็บไซต์พยากรณ์อากาศหลายแห่งที่รวบรวมข้อมูลพยากรณ์และข้อมูลจริงเกี่ยวกับระยะเวลาที่ดอกซากุระบานในแต่ละพื้นที่ สภาพการบานของดอกไม้มักถูกแสดงออกเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนดอกไม้ที่บาน เช่น "บาน ○ เปอร์เซ็นต์" ไม่เพียงแค่นั้น แม้หลังจากที่ต้นซากุระผ่านช่วงเวลาที่ดอกไม้บานเต็มที่และกลีบดอกไม้ร่วง คุณยังสามารถสนุกสนานกับ "ใบซากุระ" ที่งอกขึ้นบนต้นซากุระได้ด้วยค่ะ ใช้บทความนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อเพลิดเพลินกับดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิดูนะคะ

โบนัส: "ซากุระโมจิ" เป็นขนมญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมในฤดูใบไม้ผลิ

นอกจากนี้ หากคุณเดินทางมาที่ญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ผลิและพลาดฤดูดอกซากุระบานไป เราขอแนะนำให้คุณลอง "ซากุระโมจิ" ที่ร้านขนมญี่ปุ่นหรือแผนกขนมญี่ปุ่นตามซูเปอร์มาร์เก็ตค่ะ แม้ว่ารูปร่างจะแตกต่างกันระหว่างภูมิภาควัฒนธรรมของคันไซและคันโต แต่โดยรวมแล้วก็เป็นขนมญี่ปุ่นที่สอดไส้ถั่วแดงบดในแป้งสีดอกซากุระและห่อด้วยใบซากุระเหมือนกันค่ะ สำหรับผู้ที่ชอบ "ดังโงะมากกว่าดอกไม้" (花より団子 / hana yori dango - สำนวนญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า 'ชอบสิ่งที่ใช้ได้จริงมากกว่าสิ่งที่มีสวยงามทางสายตาอย่างเดียว') ซากุระโมจิก็อาจจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสัมผัสฤดูดอกซากุระบานด้วยกระเพาะแทนค่ะ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend