เทศกาลของญี่ปุ่น มีที่มาอย่างไร?

  • 28 กุมภาพันธ์ 2022
  • Mon
  • Mon

เทศกาลของญี่ปุ่น มีที่มาอย่างไร?

ประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในเรื่องงานเทศกาลต่าง ๆ ตามแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นงานประกวดพลุดอกไม้ไฟ งานเทศกาลชมดอกซากุระหรือใบไม้เปลี่ยนสี เทศกาลฤดูหนาวอย่างเทศกาลหิมะหรือเทศกาลน้ำแข็ง ไปจนถึงเทศกาลงานแห่ต่าง ๆ แต่รู้หนือไม่ว่า ต้นกำเนิดนั้นมาจากความเชื่อของญี่ปุ่นในด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ครับ ในครั้งนี้เราจะมาดูที่มาของงานเทศกาลในญี่ปุ่นกันครับ

ต้นกำเนิดของคำว่างานเทศกาล มัตสึริ (祭り)

ต้นกำเนิดของคำว่างานเทศกาล มัตสึริ (祭り)

คำว่า มัตสึริ (祭り / matsuri) ที่ใช้เพื่อเรียกงานเทศกาลต่าง ๆ นั้น ว่ากันว่า มีที่มาจากคำว่า มัตสึรุ (祀る / matsuru) ซึ่งแปลว่า การบูชา การยกให้เป็นเทพ การยกให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ครับ ซึ่งยังรวมไปถึงการกราบไหว้เทพ การขอพร และพิธีการที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่ามาจากทางชินโตและทางพุทธครับ

ซึ่งก่อนการมาถึงของศาสนาพุทธ ความเชื่อทางชินโตของญี่ปุ่นก็คือเทพนับแปดล้านองค์ สมัยก่อนจึงมีพิธีการต่าง ๆ มากมายครับ

ต้นกำเนิดของงานเทศกาล

ต้นกำเนิดของงานเทศกาล

งานเทศกาลของญี่ปุ่นในยุคก่อน ๆ นั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นหนึ่งในพิธีบูชาเทพเจ้าหรือการทำอะไรถวายเทพเจ้า โดยเป็นการสร้างสถานที่ให้เทพและมนุษย์ได้มาสร้างปฏิสัมพันธ์กัน จึงมีการทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้ามาร่วมงาน แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อเป็นการขอพรให้เทพเจ้าประทานพรเช่นในเรื่องคามอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรหนือการหาอาหารในสมัยนั้นกันครับ เพราะสมัยก่อนคนญี่ปุ่นทำเกษตรกรรมอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การบูชาเทพแห่งป่าเขาลำเนาไพร ท้องทะเล แม่น้ำ ฝน อากาศ พระอาทิตย์ สิงสาราสัตว์และพืชพรรณธัญญาหารก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนญี่ปุ่นในสมัยนั้นไป

อย่างไรก็ตาม ในจารึกโบราณและพงศาวดารญี่ปุ่นก็กล่าวไว้ว่า งานเทศกาลแรกสุดในประวัติศาสตร์นั้นจัดทำโดยทวยเทพครับ

ตำนานเทพปกรณัมญี่ปุ่น การซ่อนตัวในถ้ำสวรรค์

หลังจากที่สุซาโนะโอะผู้เป็นพระอนุชาได้อาละวาด เทวีสุริยาอามาเทราสุได้เศร้าโศกเสียใจจนหนีหายเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ ทำให้โลกตกอยู่ในความมืดมิด เหล่าทวยเทพองค์อื่น ๆ จึงมาประชุมกัน แล้วก็ทำการร่ำสุราสร้างความรื่นเริงเพื่อหลอกล่อให้อามาเทราสุออกจากถ้ำมา จนโลกกลับมามีแสงสว่างอีกครั้ง

การร่ำสุรารื่นเริงเฮฮาของเหล่าทวยเทพในบันทึกทั้งสองก็ถือเป็นต้นกำเนิดของงานเทศกาลในญี่ปุ่นนั่นเองครับ โดยมีความหมายว่า ไม่ว่าหนทางจะดูมืดมนแค่ไหน หากนำความรู้ความสามารถของผู้คนมากมายมารวมกันแล้วทำการใดการนั้นขึ้น ก็ย่อมเห็นทางสว่างได้เสมอ ไม่มีค่ำคืนใดไม่มีอรุณรุ่งตามมาครับ

พัฒนาการของงานเทศกาล

พัฒนาการของงานเทศกาล

หลังจากยุคเทพปกรณัม คนญี่ปุ่นก็มีการจัดงานเทศกาลในฐานะพิธีการเพื่อบูชาเทพเจ้าในเชิงการแสดงความขอบคุณและการขอพรจากเทพเจ้า ซึ่งในสมัยก่อนก็มีเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของธัญพืชห้าอย่าง ความสงบสุข ไปจนถึงขอให้ภัยต่าง ๆ ผ่านพ้นไป เช่นภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด ทำให้งานเทศกาลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนญี่ปุ่นไปครับ

ครั้นเมื่อถึงยุคเอโดะก็มีการเสริมส่วนต่าง ๆ ให้มีความบันเทิงรื่นเริงให้แก่ผู้เข้าร่วมมากยิ่งขึ้น เช่นการแห่ศาลเจ้าขนาดเล็กแบบเกี้ยวหาบ โอมิโคชิ การเชิดสิงโต การจุดประทัดพลุดอกไม้ไฟ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็มีพื้นฐานมาจากการบูชาเทพหรือบรรพบุรุษทั้งนั้นครับ

เทศกาลของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ครั้นเมื่อมาถึงยุคเมจิที่มีโองการแยกศาสนาจากกันเด็ดขาด ก็ได้มีการห้ามให้มีการจัดเทศกาลทุกอย่าง จนกระทั่งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ทำให้งานเทศกาลแบบที่จัดในสมัยเอโดะกลับมาอีกครั้ง แต่ความหมายหรือจุดประสงค์ดั้งเดิมบางส่วนก็เลือนหายไปจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ คาดว่าบางส่วนเป็นเพราะเว้นระยะไปนานด้วย เทศกาลที่เกิดขึ้นภายหลังบางงานก็ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อบูชาเทพแต่แรก เช่นเทศกาลชมดอกไม้ งานประกวดพลุดอกไม้ไฟ (มักจะไม่ได้ใช้คำว่างานเทศกาล) เทศกาลในสายตาคนรุ่นใหม่จึงเป็นเพียงความบันเทิงรื่นเริงของผู้มาร่วมงานเท่านั้น แต่สำหรับคนจัดงานแล้ว เป็นทั้งการทำถวายแก่เทพ แก่บรรพบุรุษ และยังเป็นการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย สำหรับงานที่จัดปีละครั้ง นั่นคือการทุ่มเทเตรียมงานตลอดทั้งปีเลยครับ

สำหรับในญี่ปุ่น ยังความเชื่อเรื่อง "ฮาเระ" (ハレ) หรือสิ่งเหนือเรื่องประจำวัน กับ "เคะ" (ケ) หรือสิ่งประจำวัน ก็ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนางานเทศกาลอีกด้วย โดยเชื่อว่า "ฮาเระ" ที่แปลกตาอึกทึกครึกโครมจะช่วยสร้างความสดใสและสีสันให้กับ "เคะ" เพื่อให้ทำงานในแต่ละวันกันไปอย่างไม่เบื่อหน่ายครับ เป็นการมอบพลังชีวิตให้ดำเนินต่อไปก้าวข้ามความลำบากหรือความซ้ำซากจำเจไปในตัวด้วย

ส่วนสำคัญของเทศกาลที่บูชาเทพหรือดวงวิญญาณต่าง ๆ

ในปัจจุบัน เทศกาลหลายอย่างจะมีส่วนที่คล้ายกันอันเนื่องมาจากจุดประสงค์ดั้งเดิมครับ

เกี้ยวหาบ โอมิโคชิ 神輿

เกี้ยวหาบ โอมิโคชิ 神輿

การแห่ศาลเจ้าเกี้ยวหาบก็เป็นการนำเทพในศาลเจ้าออกไปชมเมืองและให้พรแก่ชาวบเานในละแวกที่ผ่าน เป็นการนำเทพไปโปรดชาวบ้าน ขับไล่หรือสยบสิ่งรังควานและมลทินต่าง ๆ ในพื้นที่ รับฟังคำขอบคุณหรือคำอธิษฐานของผู้ศรัทธา เป็นไปตามจุดประสงค์ดั้งเดิมของการจัดงานเทศกาล คือการให้เทพและมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กัน (คิดในอีกแง่ก็เหมือนการที่ผู้มีอำนาจปกครองออกมาเยี่ยมเยียนพบปะประชาชนนั่นเองครับ)

จุดสำคัญคือเกี้ยวหาบนั้นต้องใช้แรงคนหาบไปตลอดทาง โดยผู้ไปร่วมหาบก็ถือเป็นเกียรติในการได้ทำอะไรถวายแก่เทพอย่างใกล้ชิดด้วยครับ

เกี้ยวสูง ดาชิ 山車

มีลักษณะและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องคล้ายกับเกี้ยวหาบ แต่เป็นเกี้ยวมีล้อ ลักษณะเหมือนเกวียนลากที่มีน้ำหนักมากจนหาบไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ต้องใช้คนจำนวนมากในการลาก ตัวอักษรคันจิในคำว่า 山車 มีความหมายว่าเกวียนภูเขา ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อโบราณว่าเทพเจ้าต่าง ๆ มักจะสถิตอยู่ตามภูเขา จึงทำให้มีความสูงราวภูเขา และประดับประดาตกแต่งเพื่อให้เทพพึงพอใจนั่นเองครับ

เทศกาลไฟ 火祭り

เทศกาลไฟ 火祭り

เป็นเทศกาลที่มักจะจัดในช่วงสิ้นฤดูหนาว ในความเชื่อญี่ปุ่น ไฟนั้นมีฤทธิ์ในการสงบวิญญาณ ส่งไปสู่สุคติ จึงมีการใช้ไฟในการทำลายหรือสวดส่งสิ่งต่าง ๆ เช่นถุงเครื่องเก่าที่มีสิ่งอื่นมาแฝงเมื่อใช้ไปนาน ๆ รวมถึงอิทธิพลจากทางจีนในการเผาสิ่งของถวายแก่วิญญาณบรรพบุรุษหรือเทพครับ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ได้แก่ การจุดพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งก็มาจากการจุดไฟรับวิญญาณ-ส่งวิญญาณบรรพบุรุษในช่วงโอบง (ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเทศกาลพลุดอกไม้ไฟจึงมักจัดในฤดูร้อน)

การเต้นรำแสดงระบำ 踊り

ในงานเทศกาลญี่ปุ่นหลายงานจะมีการเต้นรำระบำต่าง ๆ เช่นการเชิดสิงโต การเต้นโยะสะโค่ย ระบำอะวาโดริโอโดริ ระบำกุโจโอโดริ ระบำบงโอโดริ ซึ่งก็มีต้นกำเนิดมาจากการรำคางุระถวายเทพและการเต้นรำส่งวิญญาณบรรพบุรุษช่วงโอบง

การแข่งขันต่าง ๆ

การแข่งขันในงานเทศกาลเฉพาะ เช่นเทศกาลชายเปลือยกาย ที่แข่งกันเพื่อแย่งชิงการเป็นผู้ถูกเลือกโดยเทพเจ้า ไปจนถึงการชักกะเย่อ อาจมีทั้งที่เป็นการนำเหตุการณ์ในตำนานเทพปกรณัมมาจำลองขึ้น หรือเป็นการแข่งขันเพื่อถวายแก่เทพโดยตรง เช่นการแข่งซูโม่นั้นแต่เดิมก็เป็นการแข่งเพื่อทำนายการเก็บเกี่ยวประจำปี ส่วนงานชักกะเย่อในศาลเจ้านัมบะยาซากะก็เป็นการจำลองการปราบงูยักษ์ยามาตะโนะโอโรจิของเทพสุซาโนะโอะครับ

การประดิษฐ์สิ่งของถวาย เครื่องเซ่น

การประดิษฐ์สิ่งของถวาย เครื่องเซ่น

แม้ว่าบางส่วนอาจจะไม่ใช่งานเทศกาล แต่ก็มีการทำของถวายแก่วิญญาณและเทพต่าง ๆ มากมายในญี่ปุ่น เช่นการทำกระทงของกินเซ่นในช่วงโอบง การจัดดอกไม้ในงานประกวดดอกเบญจมาศช่วงเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้งานเทศกาลฤดูหนาวในภูมิภาคโทโฮคุบางส่วนก็มาจากการปั้นกระท่อมหิมะถวายเทพหรือทำโคมไฟเป็นรูปรวงข้าวเพื่อขอบคุณเทพเจ้าเช่นกันครับ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend