เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 44: ความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ (จิตวิญญาณแห่งคำพูด คำศักดิ์สิทธิ์)

  • 21 พฤษภาคม 2021
  • 31 สิงหาคม 2021
  • Mon
  • Mon

เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 44: ความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ (จิตวิญญาณแห่งคำพูด คำศักดิ์สิทธิ์)

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเชื่อหลากหลายแบบ แต่ความเชื่อส่วนใหญ่ไม่ขัดแย้งหรือหักล้างกัน เนื่องจากหลาย ๆความเชื่อนั้นมาจากตำนานเทพปกรณัมเดียวกันนั่นเอง และในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องความเชื่อ โคโตะดามะ 言霊(kotodama) หรือที่แปลว่า วิญญาณในคำพูด หรือจิตวิญญาณแห่งคำพูด กันครับ

ต้นกำเนิดของโคโตะดามะ

เชื่อกันว่ามีที่มาจากเรื่องข้อตกลงระหว่างเทวีอามาเทราสุ กับพระอนุชา เทพสุซาโนะโอ ซึ่งทั้งสองได้กล่าววาจาสิทธิ์“ขอให้พวกข้าพเจ้าทั้งสองได้เอ่ยวาจาสาบาน แล้วท่านจงให้กำเนิดบุตร” เพื่อเป็นการเสี่ยงทายยืนยันเจตจำนงของสุซาโนะโอว่าบริสุทธิ์จริงหรือไม่ ผลปรากฏว่า อามาเทราสุให้กำเนิดบุตรชาย 5 องค์ ทำให้ผลการเสี่ยงทายยืนยันว่าสุซาโนะโอมีเจตนาอันบริสุทธิ์จริง

เรื่องนี้จะคล้าย ๆ กับตำนาน “นางเลือดขาว” ของทางภาคใต้ในไทย ที่กล่าววาจาสิทธิ์ต่อหน้าฟ้าดิน หากไม่ได้ทำผิดจริงก็ขอให้เลือดออกมาเป็นสีขาว แล้วก็เกิดปาฏิหาริย์ทำให้เป็นตามคำกล่าวนั้น ถึงแม้ว่าคำกล่าวจะดูเป็นไปไม่ได้ก็ตาม กับการเสี่ยงทายของพระพุทธเจ้าสมัยยังออกผนวชด้วยตนเองที่เคยเสี่ยงทายว่า หากหนทางนี้ถูกต้อง ก็ขอให้บาตรลอยทวนกระแสน้ำครับ

ความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ สามารถโยงได้ว่าเริ่มแพร่หลายในยุคที่ตัวอักษรจีนเข้ามาในญี่ปุ่นในสมัยที่ยังใช้ภาษายามาโตะ (คำญี่ปุ่นแท้ในสมัยก่อน) ซึ่งในภาษายามาโตะ คำว่า คำพูด (ปัจจุบันเขียนด้วย 言 โคโตะ) กับคำว่า เรื่องราวเหตุการณ์ สถานการณ์ (ปัจจุบันเขียนด้วย 事) ไม่ได้มีการแยกใช้กัน ความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ ในสมัยนั้นจึงอาจมาจากความเชื่อที่ว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเทพสถิตอยู่ (八百万の神) พอมีการแยก “คำพูด” ออกจาก “เรื่องราว” จึงมีบางส่วนเชื่อว่าในคำพูดเองก็มีวิญญาณสถิตอยู่ก็เป็นได้ครับ

ประเภทของโคโตะดามะ

ประเภทของโคโตะดามะ

มีผู้ศึกษาเรื่องโคโตะดามะได้จำแนกประเภทของ “คำศักดิ์สิทธิ์” ไว้ 3 ประเภท คือ

  1. วาจาสิทธิ์ คำที่ดลบันดาลให้กลายเป็นจริง
  2. คำพูดเสริมพลังให้วาจาสิทธิ์ คำที่ช่วยให้คำประเภทแรกมีพลังมากยิ่งขึ้น
  3. คำพูดที่มีวิญญาณบรรพชนสถิต

โดยทั้งสามประเภทจะสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “การกล่าวคำพูด” “การเลือกใช้คำ” และ “กลไกการทำงานของคำศักดิ์สิทธิ์” นั่นเองครับ

ถ้าเทียบกับไทย นอกจากวาจาสิทธิ์แบบพระร่วงแล้ว ก็คงจะคล้าย ๆ เรื่องการทักหรือห้ามทักเวลาเจออะไรแปลก ๆ นั่นแหละครับ แต่ของญี่ปุ่นจะมีความซับซ้อนในแง่การเลือกใช้คำมากกว่าการพูดทักครับ

ตัวอย่างและอิทธิพลของความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ

ตัวอย่างและอิทธิพลของความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ

ตัวอย่างการพูดแบบไม่คิดในตำนานเทพปกรณัม

ในตำนานเทพปกรณัมญี่ปุ่นของ “จารึกโบราณ” (古事記 โคะจิกิ) มีเรื่องราวของ ยามาโตะทาเครุ (倭建命) ที่ได้เคยเดินทางผ่านภูเขาอิบุกิ แล้วได้พบกับเทพประจำภูเขาในร่างจำแลง แต่ด้วยความเย่อหยิ่ง เขากลับไม่นึกว่านั่นคือเทพจึงเอ่ยปากไปว่า “นั่นคงเป็นคนส่งสาส์นของเทพ เดี๋ยวขากลับจะมาปราบให้สิ้น” จนทำให้เทพโกรธ สุดท้ายก็ตายเพราะโดนคำสาปของเทพองค์นั่นเล่นงานเข้า

ประเทศที่สงบสุขด้วยคำพูด?

ในหนังสือ “รวมเรื่องเล่านับหมื่นของญี่ปุ่น” (万葉集 มันโยชู) ได้มีการกล่าวไว้ว่า ญี่ปุ่น (ยามาโตะ) เป็น “ประเทศที่พบความสุขจากโคโตะดามะ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สมัยนั้นคำว่า คำพูด และ เรื่องราว เหตุการณ์ ยังไม่ถูกแยกจากกัน โคโตะดามะในประโยคดังกล่าว จึงอาจจะหมายถึงเทพที่สถิตอยู่ในสรรพสิ่งก็เป็นได้ แต่ปัจจุบันคนก็นำประโยคนี้ไปตีความในแง่คำพูดกันมากกว่าครับ

คำพูดต้องห้าม พูดแล้วเดี๋ยวเป็นลาง

ในงานพิธีต่าง ๆ ของญี่ปุ่นแม้ในปัจจุบันจะมีการเลี่ยงใช้คำที่มีความหมายไม่ดี ที่เรียกกันว่า อิมิโคโตบะ (忌み言葉คำอัปมงคล) ซึ่งมีทั้งที่ขัดกับความเชื่อและที่ถือว่าเป็นคำอัปมงคล เช่น

-งานศพแบบคริสต์ จะเลี่ยงใช้คำว่า โจบุตสึ 成仏 (แปลว่าไปสู่สุขคติ แต่ถ้าตามตัวอักษรคือ เข้าใกล้นิพพาน เข้าใกล้หนทางของพระพุทธเจ้า)
-งานศพแบบพุทธ จะเลี่ยงใช้คำว่า มาโยอุ 迷う (หลง หลงทาง สับสน เลือกไม่ถูก)
-งานแต่ง จะเลี่ยงใช้คำที่มีความหมายในเชิง เกลียด ลาจาก แยกทาง ทะเลาะ จบ คืน(เจ้าสาว) เย็นชา ทิ้ง หย่าร้างฯลฯ เช่นถ้าถามว่ากินอาหารนี้ได้มั้ย แล้วไม่ชอบ ก็จะเลี่ยงไปบอกว่า ไม่ค่อยชอบ あまり好きじゃない แทนการใช้คำว่า เกลียด 嫌い โดยตรง
-ในงานพิธีต่าง ๆ ยังเลี่ยงการใช้คำซ้ำ อย่างเช่น อิโระอิโระ 色々 (หลากหลาย) ทามะทามะ 偶々 (บังเอิญ) แล้วหันไปใช้คำอื่นแทน

ในศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่น

ในศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่น หลายศาสตร์จะมีการให้ออกเสียงเวลาออกอาวุธ เรียกกันว่า คิไอ 気合い ซึ่งตัวผู้ก่อตั้งไอคิโดเองก็กล่าวว่า ใช้โคโตะดามะเป็นพื้นฐานในการสอน จริง ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์มันก็ช่วยเรื่องการควบคุมลมหายใจเวลาออกกำลังกายนะครับ

สิ่งที่ห้ามพูดถึง

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า เสรีภาพทางการพูดของญี่ปุ่นเองก็ถูกจำกัดด้วยความเชื่อเรื่องโคโตะดามะครับ โดยตัวอย่างถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า เคยมีกลุ่มที่ออกมาพูดว่าญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม (ที่ไม่ใช่สายลับหรือหน่วยที่ถูกส่งมาทำลายญี่ปุ่นจากภายใน) แถมหลังสงคราม ประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะ “อย่าพูดถึงสิ่งที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง” ทำให้มีหลายสิ่งที่ “ห้ามพูดถึง” กัน

ในมังงะะและอนิเมะ

ในเรื่อง เทพมรณะ BLEACH มีทั้งการใช้ คิโด 鬼道 (วิถีมาร) ที่ต้องร่ายคาถา การขานนามของดาบฟันวิญญาณ รวมถึงตัวละครที่เพียงขานนามก็ฟื้นคืนชีพได้ด้วย

ในเรื่อง มหาเวทย์ผนึกมาร Jujutsu Kaisen มีตัวละคร อินุมากิ โทเงะ ที่ใช้ไสยเวทด้านโคโตะดามะ (วาจาสิทธิ์) ที่ต้องปิดปากและพูดคำที่เป็นของกิน ไม่เป็นประโยค ไม่สามารถตีความหมายได้ตลอดเวลาที่ไม่ได้ใช้ไสยเวท เพื่อป้องกันการเผลอใช้ไสยเวทและพลังเวทของตนเองในเวลาปกติ

การเล่าเรื่องสยอง

ในสายมูยังเชื่อกันว่า เวลาเล่าเรื่องสยอง วิญญาณมักจะมารวมตัวกัน อันเนื่องมาจากคำพูดที่ใช้เล่าได้เรียกดวงวิญญาณในเรื่องเล่ามาบ้าง จิตของผู้ฟังที่จินตนาการตามเรื่องแล้วกลัวจนสื่อถึงวิญญาณเหล่านั้นบ้าง ทำให้เรื่องบางอย่างเกิดขึ้นจริงขึ้นมาได้

อย่างเช่นการเล่าเรื่อง 100 เรื่อง (百物語) ที่จะเกิดอาถรรพ์เวลาเล่าเรื่องสุดท้าย เรื่องฮานาโกะซังแห่งห้องน้ำหญิงในโรงเรียนที่มีในทุกโรงเรียน (และมีคนเจอทุกโรงเรียน) เนื่องจากต้นฉบับไม่ได้เล่าว่าโรงเรียนอะไร แค่ระบุว่าต้องเป็นห้องน้ำหญิงชักโครกห้องที่ 3 บนชั้น 3 เท่านั้น

เรื่องสยองเกี่ยวกับโคโตะดามะ: ทาโดโคโระคุง (田所君)

เรื่องสยองเกี่ยวกับโคโตะดามะ: ทาโดโคโระคุง (田所君)

เรื่องเล่าเกี่ยวกับเพื่อนร่วมชั้นสมัยก่อนที่ชื่อ ทาโดโคโระคุง ครับ

ทาโดโคโระคุงนั้น เป็นเพื่อนร่วมชั้นระหว่างป. 5 ถึง ป. 6 ช่วงเปิดเทอม 2 ครับ
ทาโดโคโระคุงเป็นพวกเรียนเก่ง
เรียกห้องสมุดของโรงเรียนว่า "ป้อมปราการ" อ่านหนังสือมากไปหน่อย เลยสวมแว่นตาตั้งแต่เด็ก
ชอบอ่านนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน จำได้ว่าเขาเคยแนะนำหนังสือน่าสนใจที่มีในห้องสมุดมาหลายเล่มเลยครับ

ทาโดโคโระคุงที่ครองสามมงกุฎ “สายดาร์ค” “เด็กเรียน” “เด็กแว่น”
ถ้าเป็นคนอื่น ก็คงมีแนวโน้มจะกลายเป็นเป้าหมายแรกที่จะถูกเพื่อนแกล้ง แต่เขามีความอัจฉริยะที่ไม่มีใครเทียบได้อยู่ด้านหนึ่ง
เขาสามารถเล่าเรื่องสยองได้อย่างยอดเยี่ยมกระเทียมเด้งเลยครับ
แถมทุกเรื่องที่เขาเล่า เป็นเรื่องที่เขาแต่งขึ้นด้วยตัวเองทั้งหมด

พอลองมานึกย้อนดูตอนนี้ สมัยนั้นผมก็คิดประมาณว่า คงเป็นเรื่องที่เหมือนจะเคยได้ยินมาจากที่ไหนสักที่ หรือเอาคดีที่เกิดในช่วงนั้นมาทำเป็นเรื่องสยองบ้าง แต่ก็นั่นแหละครับ ความคิดของเด็กประถม

ทาโดโคโระคุงที่เล่าเรื่องสยองได้เรื่อย ๆ เหมือนน้ำไหลไม่ขาดสาย เป็นใครก็มองเขาด้วยความยกย่องแหละครับ
ด้วยความที่เจ้าตัวจะออกปากว่า “เป็นเรื่องแต่ง” ทุกเรื่อง จึงไม่มีการเล่าเรื่องแนว ๆ พวกมีเซนส์จอมปลอมจำพวก “กูมองเห็นผีนะเว่ย” “เฮ้ย มีผีตามแกอยู่ว่ะ” อะไรแบบนั้นเลยแม้แต่นิดเดียวครับ
นี่เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมาน่ะ...” พอทาโดโคโระคุงเริ่มเล่า ทั้งห้องเรียนก็จะเงียบกันทันที

พวกผมที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นก็ตั้งฉายาให้ด้วยความทึ่งว่า “อาจารย์เรื่องสยอง the Great” กันครับ
ที่เพิ่ม Great ไปนั้น ก็เพราะว่า เขาเป็นที่เคารพจากเพื่อน ๆ ยิ่งกว่าอาจารย์ในโรงเรียนเลยครับ
ก็เป็นชื่อเล่นจำพวกที่หาความหมายไม่ได้ที่มักจะพบกันบ่อย ๆ ตามโรงเรียนประถมแหละนั่นครับ

ปกติจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า “Great” จนไม่มีแม้แต่เสียง “ทะ” ใน “ทาโดโคโระ” เลยครับ

แต่ทาโดโคโระคุงคนนี้ ก็เคยเล่าเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแต่งอยู่ 2 ครั้งครับ

สมัย ป.5 ทุกคนอินกับเรื่องเล่าของเขาจนเกิดกระแสบูมเรื่องสยองไปทั้งโรงเรียน (ทุกชั้นปี) แบบหาอะไรเทียบไม่ได้เลยครับ
ช่วงแรก ๆ ก็มีการเล่าเรื่องสยองราวกับจัดประกวดตอนช่วงพักทุกช่วง
ต่อมาก็เริ่มมีกระแส “ผีถ้วยแก้ว” (คคคุริซัง) จากนั้นก็ตามด้วยกระแสดูดวงกันครับ
แล้วก็เริ่มมีนักเรียนที่ไปหาทดสอบความกล้ากันตามบ้านร้างหรือสุสานจนดึกดื่นก็ยังไม่กลับบ้านกัน

แต่เรื่อง “ไม่กลับบ้านจนดึกดื่น” ก็ได้ลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ครับ
มีการร้องเรียนจากทางผู้ปกครองเข้ามามาก จนทางอาจารย์ต้องออกมาตรการรองรับ
ด้วยเหตุนี้ กระแสเรื่องสยองก็เลยยุติไปชั่วคราวครับ

แต่ถึงกระนั้น เด็กที่รบเร้าอยากฟังเรื่องสยองของทาโดโคโระคุงก็มีมากมายจนนับไม่ถ้วน เจ้าตัวคงรู้ว่าอาจจะถูกอาจารย์และผู้ปกครองจับตาดูอยู่ เลยเล่า “เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง” เรื่องแรกออกมาครับ
เรื่องที่ว่านั้น ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ก็คือเรื่อง “ความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ” ครับ

ตอนที่เราเล่าเรื่อง รู้มั้ยว่า ทำไมเราถึงชอบพูดเกริ่นด้วย ‘นี่เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมาน่ะ’ พอพูดแบบนั้นปุ๊บ ในหัวของทุกคนก็จะคิดว่า ‘อ๋อ นี่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา’ ใช่มั้ยล่ะ? จริง ๆ แล้ว ตรงนี้เนี่ยสำคัญมากเลยแหละ

ด้วยการเล่าที่แปลกไปจากทุกที ผมจำได้เลยว่า เพื่อน ๆ ก็ทำหน้าแบบงง ๆ “อะไรหว่า?” กันหมด แน่นอนว่ารวมถึงตัวผมด้วย
แล้วทาโดโคโระคุงก็เล่าต่อโดนไม่สนท่าทีของพวกผม

มันมีแนวคิด ‘ความเชื่อเรื่องโคโตะดามะ’ อยู่น่ะ ตามตัวอักษรคือเขียนด้วย โคโตะ ใน 言葉 (คำพูด) กับ เร 霊(วิญญาณ) แต่ความหมายจริง ๆ น่ะ คือ ถ้าใส่ความคิดความรู้สึกมาก ๆ ลงในคำที่พูดออกไป คำนั้นก็จะมีพลังอำนาจนั่นเองแหละ
อย่างเช่น ทาเคชิคุง (นามสมมุติ เป็นคนขี้กลัวอย่างหนัก) ชอบพูดหยอกเล่น ๆ ใส่เราว่า ‘ตายซร้า!’ ใช่มั้ยล่ะ แต่ถ้าทาเคชิคุงเกลียดเรา แค้นเรา โกรธเราอย่างหนักจนอยากฆ่าเราจริง ๆ ขึ้นมา สมมุติเฉย ๆ นะ แล้วทาเคชิคุงเอาความรู้สึกเหล่านั้นใส่ลงในคำพูด แล้วพูดมาใส่เราว่า ‘ตายไปซะ!
ในกรณีนี้ ความรู้สึกอันแรงกล้าของทาเคชิคุงก็จะถูกส่งผ่านเข้าไปในคำพูด แล้วมันก็จะสื่อมาหาเราแหละ แล้ว พอคำเหล่านั้นมาถึงเรา เราก็จะตาย ถูกฆ่าด้วยคำพูดนั่นแหละ

มาถึงตรงนี้ ทาเคชิคุงก็เกือบจะฉี่ราดแล้ว

แต่พวกคนอื่น ๆ (รวมถึงตัวผมด้วย) ก็หัวเราะกันลั่นเลยว่า “คำพูดมันจะฆ่าใครได้ที่ไหนกัน!!
ก็แหงแหละครับ ถ้าที่ทาโดโคโระคุงพูดเป็นเรื่องจริง ทุกวันคงมีแต่งานศพ คนฆ่ากันเองง่าย ๆ เป็นโรงเรียนแดนเถื่อนกันเลยทีเดียว

ที่ไม่เป็นแบบนั้น ก็เพราะทุกคนไม่ได้คิดจริงจังกันไงล่ะ เอาเป็นว่า มันมีแนวคิดแบบนั้นอยู่จริงก็แล้วกัน แล้วก็ ไอ่ความรู้สึกที่ว่าเนี่ย มันไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้สึกของตัวเองเท่านั้นด้วยนะ เป็นความรู้สึกของคนอื่นก็ได้ด้วย เพราะงั้นเราถึงจงใจพูดเกริ่นว่า ‘นี่เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมาน่ะ’ ไงล่ะ

พวกผมก็นั่งงงกันหมด ยังไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง

จำเรื่อง ‘ฝูงตุ๊กตา’ ที่เราเล่าไปคราวก่อนได้มั้ย? พอได้ฟังแล้ว รู้สึกยังไงกันบ้าง?

เรื่องที่ว่านั้นเพิ่งฟังกันมาไม่นาน ทุกคนก็จำได้หมด

มีเด็กที่เล่นตุ๊กตายอดนิยมแล้วเผลอเอาเข้าปากแล้วติดคอเสียชีวิต จนทางผู้ขายต้องเรียกสินค้าคืน
แต่ทว่า ในตุ๊กตาจำนวนมากที่ถูกเรียกคืนนั้น มีความรู้สึกอันแรงกล้าของเด็ก ๆ ฝังอยู่ เช่น “เสียใจที่ถูกพรากตุ๊กตาไป” “อยากเล่นกับตุ๊กตาตัวนี้อีก” แล้วความรู้สึกเหล่านี้ก็เชื่อมต่อกับนิวรณ์ที่เป็น “ความเหงา” ของดวงวิญญาณเด็กที่ตายไป จึงรวมดวงจิตกลายเป็นกลุ่มก้อนตุ๊กตาขึ้น
จากนั้นกลุ่มก้อนตุ๊กตารวมร่างขนาดมหึมาก็ไปหาเจ้าของเก่าแต่ละรายของตนทุกค่ำคืน ทำความรู้สึกที่ “อยากจะเล่นด้วยกันอีก” ของเด็กให้กลายเป็นจริง จากนั้นเพื่อไม่ให้ดวงวิญญาณของเด็กคนแรกเหงา ก็เลยทำให้เด็กคนอื่น ๆ ขาดอากาศหายใจตายไปด้วย

จริงอยู่ว่าเรื่องนี้น่ากลัวเอามาก ๆ แต่ยังไงมันก็เป็นแค่เรื่องที่ทาโดโคโระคุงแต่งขึ้น

แต่ถ้ากลัวก็จะถูกมองว่าขี้ขลาดแบบทาเคชิคุง พวกผมเลยทำเป็นไม่กลัว พูดออกไปกันว่า “มันก็แค่เรื่องแต่งไม่ใช่เรอะ

ที่เราจะสื่อก็คือตรงนี้แหละ สมมุติถ้าเราบอกว่า ‘นี่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง ๆ’ ทุกคนจะรู้สึกยังไง? คงจะมีความกังวลกัน แบบ ‘ตุ๊กตาของเราจะเป็นอะไรรึเปล่า?’ กันบ้าง ‘คงไม่มาที่บ้านเราหรอกนะ’ กันบ้าง ‘ตุ๊กตาที่ทิ้งไปอาจจะกลับมาหา’ กันบ้างแหละสินะ เพราะมันเป็นเรื่องจริงไง ทุกคนคงพูดได้ไม่เต็มปากว่า ตุ๊กตาของตัวเองจะไม่เป็นแบบนั้นน่ะ

ทุกคนพูดอะไรไม่ออก ในใจของพวกผมเกิดความกังวลขึ้นมากมายในชั่วพริบตา

เฮ้ย เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงเหรอ? เฮ้ย Great พูดงี้จริง ๆ เหรอ? หรือว่าเรื่องทุกเรื่องที่เล่ามาเป็นเรื่องจริงทั้งหมด?

ทุกคนอลหม่านจนถึงขีดสุด

อ่า เรื่องฝูงตุ๊กตาเป็นแค่เรื่องแต่งน่ะ ไม่ต้องกังวลไป แต่ไอ่ความกังวลที่ทุกคนรู้สึกได้เมื่อกี้นี้เนี่ย มันจะกลายเป็นความรู้สึกที่ให้พลังอำนาจกับเรื่องเล่าของเรา แค่คนสองคนมันก็ไม่เท่าไหร่หรอกนะ

แต่ถ้าเป็นหลายสิบคนหลายร้อยคน คนมากมายเหล่านั้นรู้สึกกังวล ยิ่งคิดว่า ‘เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นจริงก็เป็นได้’ แรงกล้าเท่าไหร่ เรื่องมันก็จะกลายเป็นจริงมากขึ้นเท่านั้น และเพื่อไม่ให้เป็นอย่างงั้น เราถึงเล่าแต่เรื่องแต่งเท่านั้นไงล่ะ

พวกผมที่ฟัง “เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง” ของทาโดโคโระคุงก็คิดเหมือนกันหมดว่า

โคตรน่ากลัวเลย

ง่าย ๆ คือ เหมือนถูกบอกว่า “ยิ่งกลัวเรื่องสยองมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งกลายเป็นจริงเท่านั้น” เลยครับ

พอลองมาคิดดูตอนนี้ กลับรู้สึกว่า มันไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับความเชื่อเรื่องโคโตะดามะเลย เผลอ ๆ เรื่องนี้เองก็อาจจะเป็นเรื่องแต่งก็ได้ แต่ในตอนนั้น พวกผมที่ได้ฟังก็กลัวจนตัวสั่นจากความสยองที่ว่า “ถ้ากลัวมันจะกลายเป็นเรื่องจริง” มากกว่าที่จะสนใจเรื่องความเชื่อเรื่องโคโตะดามะเสียอีก

แล้ว “เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง” ของทาโดโคโระคุงก็แพร่ไปทั่วทั้งโรงเรียนในชั่วอึดใจ
ก็แหงแหละครับ นอกจากจะได้รู้สาเหตุที่ทำไมทาโดโคโระคุงถึงเล่าแต่เรื่องแต่งแล้ว ยังมีการบอกกันด้วยว่า ถ้ากลัวเรื่องโกหกก็กลายเป็นเรื่องจริงได้
ด้วยเหตุนี้ กระแสเรื่องสยองในโรงเรียนก็ยุติลงอย่างสมบูรณ์

นั่นคือ “เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง” เรื่องที่หนึ่งของทาโดโคโระคุง

จากนั้นกระแสนิยมเรื่องสยองก็ไม่กลับคืนมา พวกผมก็ขึ้น ป.6 กันครับ
แม้กระแสนิยมจะยุติไป แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการเล่าเรื่องสยองกันเลย ห้องผมก็ยังได้เพลิดเพลินกับการฟังเรื่องสยองของทาโดโคโระคุงเป็นครั้งเป็นคราว
บางครั้งก็มีเพื่อนห้องอื่นมาฟังเรื่องสยองของทาโดโคโระคุงด้วยครับ
รอบนี้ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ ก็แค่อยู่ในห้องเรียนต่อหลังเลิกเรียนกัน อาจารย์ทั้งหลายก็ไม่ว่าอะไรครับ

จนกระทั่งหลังปิดเทอมย่อยครั้งสุดท้ายของนักเรียนประถม

เหมือนว่าทาโดโคโระคุงจะสุขภาพไม่ดีตอนช่วงท้ายของช่วงปิดเทอมย่อย หลังเปิดเทอมสองก็หยุดเรียนไป 1 สัปดาห์
ใครให้มึงแอบปิดเทอมต่อเองคนเดียวฟร้า~” ทุกคนแซว จำได้ว่าเจ้าตัวหัวเราะแบบอิดโรยเป็นการตอบ
จากนั้น พวกผมทุกคนที่ทนกันมา 1 สัปดาห์ก็บอกเขาไปว่า “หลังเลิกเรียนวันนี้ จะรอฟังนะ

พวกผมรวมตัวกันที่ห้องหลังเลิกเรียนตามเคย แลกเปลี่ยนความทรงจำช่วงวันหยุดกันไปพลาง ฟังเรื่องสยองของทาโดโคโระคุงไปพลาง

เรื่องที่ทาโดโคโระคุงเล่าในตอนนั้น คือ “เรื่องฝา” ครับ
เนื้อเรื่องก็ประมาณนี้ครับ

มีเด็กประถมคนหนึ่ง ใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปเที่ยวเล่นที่ต่างจังหวัดที่คุณปู่คุณย่าอาศัยอยู่ด้วยตัวเองคนเดียว แต่ก็ไม่ได้เป็นต่างจังหวัดแบบทุรกันดารห่างไกลอะไร เป็นเมืองที่ค่อนข้างพัฒนา เด็กประถมคนนั้นตั้งใจจะไปสำรวจวัดและศาลเจ้าเพื่อทำวิจัยอิสระช่วงปิดเทอม จึงไปตระเวนตามศาลเจ้าในเมืองนั้น

ตอนที่ไปถึงศาลเจ้าบนภูเขาเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองไปหน่อย เด็กประถมก็ได้ค้นพบสิ่งแปลก ๆ ที่ด้านหลัง เป็นฝาที่ทำด้วยไม้ ลักษณะเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 150 เซนติเมตร ดูจากสภาพความเปื้อนเปรอะ คงจะเป็นของเก่าแก่มีอายุพอสมควร
พอลองจับดูก็พบว่ามีน้ำหนักมากผิดคาด มีความหนาแน่นพอดู หนาประมาณ 10 เซนติเมตร คล้ายกับทำจากแผ่นไม้หลาย ๆ แผ่นวางซ้อนกัน ด้านหน้ามีลายไม้ที่พอจะดูออก แต่ด้านหลังไม่รู้ทำไม กลับกลายเป็นสีดำสนิท

เด็กประถมก็คิดว่า ‘ถ้ามีฝา ก็ต้องมีช่องหรืออะไรสักอย่างที่ฝานี้เคยใช้ปิดอยู่สินะ’ จึงเดินดูรอบ ๆ แต่ก็กลับไม่พบอะไรพอกำลังตัดใจจะกลับ ก็นึกอะไรออก จึงไปชำเลืองมองข้างในตัวศาลเจ้าดู
เป็นไปตามที่คิด ภายในตัวศาลเจ้ามีฝาคล้าย ๆ กันวางไว้อยู่ ถูกวางประดับไว้เหนือแท่นบูชา รอบ ๆ มีเชือกศักดิ์สิทธิ์ชิเมะนาวะพันอยู่หลายรอบ เด็กประถมที่สงสัยว่าฝานั้นปิดอะไรไว้อยู่จึงเดินเข้าไปในตัวศาลเจ้า เข้าไปใกล้ ๆ ฝานั้น
แต่ที่น่าแปลกคือตัวฝากลับถูกตั้งไว้บนแท่นบูชาเฉย ๆ ไม่ได้ใช้ปิดรูหรือช่องอะไร ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเต็มอกเด็กประถมจึงลอดเชือกชิเมะนาวะแล้วอ้อมไปดูด้านหลังของฝา
เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงสลัว ๆ จนดูยากสักหน่อย แต่ก็เห็นว่ามีแผ่นโลหะวงกลมขนาดเท่ากับฝาไม้พอดีติดไว้กับฝาอยู่ แผ่นโลหะนี้เองก็ดูเก่าแก่โบราณเช่นกัน โดนปฏิกิริยาเคมีจนกลายเป็นสีดำสนิท ดูเหมือนว่าจะเป็นทองเหลืองหรือบรอนซ์

เด็กประถมยังคงคาใจว่าแผ่นโลหะนั้นมันคืออะไร จึงลองจะแกะฝาออกดู แต่ทว่า ฝากับแผ่นโลหะนั้นติดกันแน่นจนไม่กระดิกซักแอะ เด็กประถมถอดใจ ถ่ายภาพด้านหลังของแผ่นโลหะไว้เพื่อเป็นที่ระลึก แล้วนำสมุดสเก็ตช์ภาพมาวาดเก็บข้อมูล

หลังจากนั้น พอกลับจากต่างจังหวัด ก็เอาภาพไปอัดที่ร้าน แต่กลับไม่มีรูปแผ่นโลหะที่ยังคาใจ พอไปสอบถามร้านล้างอัดภาพว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ได้ความว่า มีรูปที่เป็นสีดำสนิทอยู่หลายใบ พอไล่เรียงลำดับภาพก็พอจะรู้ว่า นั่นคือภาพที่ถ่ายแผ่นโลหะนั้นทุกใบ เด็กประถมจริงร้องขอให้ทางร้านอัดภาพสีดำเหล่านั้นออกมา

จากนั้นมา เด็กประถมก็เริ่มฝันประหลาด ในความฝัน ตัวเขาก็พยายามจะแกะฝาออกเช่นกัน แต่ทำยังไงก็เปิดฝาไม่ได้พยายามจนแม้เล็บจะช้ำจะฉีกก็ไม่สน แต่สุดท้ายก็ตื่นจากความฝันโดยที่ยังทำอะไรไม่ได้เลย ยิ่งนับวัน เด็กประถมคนนั้นก็ยิ่งสงสัยว่าแผ่นโลหะนั้นคืออะไรกันแน่

วันหนึ่ง เขาก็ฝันว่ากำลังแกะฝาอยู่เหมือนเดิม แต่มีบางอย่างที่เปลี่ยนไป ฝานั้นแง้มออกเล็กน้อย เด็กประถมดีใจมากในที่สุดก็จะได้รู้ว่ามันคืออะไร เลยทุ่มสุดตัว แต่สุดท้ายในวันนั้น ฝาก็ไม่ขยับเขยื้อนมากไปกว่านั้น
แต่ทว่า นับตั้งแต่วันนั้น ทุกครั้งที่ฝัน ฝานั้นก็ค่อย ๆ เปิดออกขึ้นเรื่อย ๆ เด็กประถมก็ไม่คิดที่จะเก็บซ่อนความรู้สึกพยายามเปิดฝาออกทุกค่ำคืน แม้จะตื่นจากฝัน แต่ในหัวนั้นก็คิดถึงแต่เรื่องฝาอย่างเดียว การบ้านปิดเทอมเอยงานวิจัยอิสระช่วงปิดเทอมเอยไม่เป็นอันทำ ระหว่างที่ตื่นก็เอาแต่จ้องรูปสีดำสนิทหรือไม่ก็นั่งสเก็ตช์ภาพแผ่นโลหะนั้นเป็นบ้าเป็นหลัง
แล้วในที่สุด ด้านหน้าจองแผ่นโลหะที่ถูกฝาปิดไว้ก็เผยออกมาให้ได้ชม เด็กประถมยินดีปรีดา รีบดึงเอาฝาออก แต่ก็แปลกตรงที่ ฝาที่เคยทำยังไงก็ไม่กระดิกสักนิด กลับหลุดออกมาง่าย ๆ เด็กประถมจึงดูที่ด้านหน้าของแผ่นโลหะแบบเต็ม ๆ
ที่เห็นก็เป็นเพียงแค่ แผ่นโลหะสีดำสนิท แต่เป็นสีดำที่ราวกับจะดูดกลืนทุกสิ่ง เด็กประถมจึงยื่นมือจะไปสัมผัสพื้นผิวด้านหน้าของแผ่นโลหะ แต่ในทันใดนั้น เขาก็ได้ยินเสียงบางอย่าง

มันเป็นเสียงพูดเบา ๆ เหมือนพูดบ่นอะไรซ้ำ ๆ ดูไปดูมา เหมือนว่าจะได้ยินออกมาจากแผ่นโลหะนั้น เด็กประถมจึงเอาหูแนบกับแผ่นโลหะเพื่อจับใจความคำพูดดังกล่าว

เปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะเปิดออกซะ..........

ได้ยินเสียงพูดเป็นบ้าเป็นหลังว่า “เปิดออกซะ” ด้วยความตกใจจึงจะถอยออกจากแผ่นโลหะ แต่ใบหูกลับดึงไม่ออกแถมความรู้สึกเย็นที่ใบหูจากการสัมผัสกับโลหะก็หายไปโดยไม่รู้ตัว
จากนั้น ก็มีแขนที่ทาสีดำแดงยื่นออกมาจากด้านหน้าแผ่นโลหะสีดำสนิท กุมเอาศีรษะของเขาเอาไว้ ไม่มีเวลาให้ขัดขืนเด็กประถมถูกดูดเข้าไปในแผ่นโลหะสีดำสนิท จากนั้นเขาก็ตื่นจากความฝัน

เด็กประถมที่ตื่นมาจากความฝันนั้น กลับไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของความกลัว กลับกัน เขาอยากจะไปยืนยันกับแผ่นโลหะนั้นจริง ๆ ด้วย จิตใจของเขาแน่วแน่ เขาถูกแผ่นโลหะนั้นครอบงำไปเสียแล้ว เด็กประถมเกิดความมั่นใจ ฝาที่ตอนนั้นทำยังไงก็ไม่กระดิก ตอนนี้เขาสามารถเปิดมันได้ เพราะเป็นตัวเขาที่เปิดมันในความฝันได้นั่นเอง ย่อมเปิดได้แน่นอนเขาเชื่ออย่างนั้น

ไม่ต้องรอให้ฝันอีกต่อไป เด็กประถมคิดเรื่องอะไรไม่ได้เลยนอกจากเรื่องแผ่นโลหะนั้น ได้แอบพ่อแม่ไปที่ศาลเจ้านั้นอีกครั้ง จากนั้น เด็กประถมคนนั้นก็หายสาบสูญไป

เขาถูกดูดหายเข้าไปในแผ่นโลหะเหมือนในฝันหรือเปล่า หรือเกิดเหตุการณ์อื่นเข้า ไม่มีใครรู้แน่นอน สุดท้าย แผ่นโลหะนั้นมันคืออะไร คงไม่มีใครอื่นรู้ คนที่รู้ก็มีแค่ เด็กประถม และ ‘ใครบางคน’ ที่เป็นคนปิดฝานั้น

.................................

ความน่าสนใจของเรื่องที่ทาโดโคโระคุงเล่านั้น อยู่ที่ “เรื่องมันไม่จำเป็นต้องจบแบบมีบทสรุปชัดเจน” แม้จะเป็นเรื่องแต่งก็ตาม
แม้แต่ “เรื่องฝา” นี้เอง สุดท้ายแผ่นโลหะนั้นคืออะไรก็จบแบบไม่มีคำตอบครับ

ฟังเรื่องจบ พูดคุยกันซักยก พวกผมก็เมามันกับการสนทนากัน ไม่เชิงว่าต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร แต่เป็นหัวข้อว่า“แผ่นโลหะนั้น ถ้าเป็นอะไรถึงจะน่าสนใจ” เสียมากกว่า
ก็มีความเห็นหลากหลาย แต่คำตอบว่า “กระจกเชื่อมสู่โลกนู้น” ก็มีมากมาย
ไม่ใช่โลกนู้นหรอก นรกมากกว่า ไม่น่า โลกแห่งเทพนิยายมั้ง ไม่ใช่กระจกหรอก เป็นความบิดเบี้ยวของอวกาศและกาลเวลามากกว่า ผมก็แอบเพลิดเพลินไปกับจินตนาการอันหลากหลายเหล่านี้

แต่ทว่า ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด ทุกคนรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่างในเรื่องเรื่องนี้

แล้วหลังจากนั้น ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ทาโดโคโระคุงกลายเป็นตำนานครับ

ทาโดโคโระคุงขาดเรียนในวันถัดมา
ไหน ๆ ก็มีสุขภาพทรุดโทรมจนต้องขาดเรียนไป 1 สัปดาห์อยู่แล้ว ทุกคนก็คิดแค่ว่า คงจะอาการทรุดแหละมั้ง
แต่ทาโดโคโระคุงก็ยังขาดเรียนอีกในวันถัดมาและสันถัดถัดมา

พวกผมคิดกันว่า อาการแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ เลยไปหาอาจารย์ บอกไปว่า “พวกผมอยากไปเยี่ยมไข้หน่อยครับ
แล้วอาจารย์ก็ส่ายหน้า
อาจารย์บอกแค่ว่า “ตอนนี้ทางทาโดโคโระคุงกำลังวุ่นวายกันอยู่ ห้ามไปเยี่ยมนะ
พวกผมก็แปลกใจ วุ่นวายนี่คืออะไร ติดโรคร้ายแรงเหรอ? หรือวันนั้นฝืนมาโรงเรียนจนอาการทรุด?
ความคิดมากมายผุดขึ้นมาเพียบ

หลังจากที่ทาโดโคโระคุงขาดเรียนไป 2 สัปดาห์ ความจริงก็ออกมาจากปากของอาจารย์
ทาโดโคโระคุงได้หายสาบสูญไปตั้งแต่วันนั้น วันที่เล่า “เรื่องฝา” นั่นเอง
อาจารย์เองก็บอกว่า ทางพ่อแม่ของทาโดโคโระคุงไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเรื่องนี้ เลยไม่ค่อยรู้รายละเอียดอะไรเลย แต่วันที่ทาโดโคโระคุงเล่า “
เรื่องฝา” ดูเหมือนว่าจะไม่ได้กลับบ้าน แล้วก็ไม่รู้เลยว่าหายตัวไปไหนนับตั้งแต่นั้นมา
ทางตำรวจก็ออกตามหาร่องรอยกันแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกลักพาตัวด้วย

ข้อมูลการพบเห็นครั้งสุดท้ายของเขา คือช่วงค่ำหลังจากเล่า “เรื่องฝา” ไปแล้ว มีการเห็นเขาที่สถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดอยู่
ร่องรอยตั้งแต่สถานีไปก็ไม่พบเห็นอะไรเลย ผ่านไป 1 เดือน ทางตำรวจก็สืบสวนต่อไม่ได้ จึงยกเลิกการค้นหาไป
ทางครอบครัวของทาโดโคโระคุงเองก็เข้าใจสถานการณ์ครับ

แต่พวกผมรู้ว่าทาโดโคโระคุงอยู่ที่ไหน
มันอาจจะเป็นเรื่องเหนือจินตนาการ แต่พวกผมก็คิดเป็นอย่างอื่นกันไม่ได้เลย

ตอนที่พวกผมนึกกันออกนั้น คือตอนหลังเลิกเรียนวันที่ได้ยินจากอาจารย์ว่าทาโดโคโระคุงหายสาบสูญครับ
จากวันนั้นก็มีการเปลี่ยนจากการค้นหาแบบสาธารณะ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะโดนลักพาตัว และอาจเกิดเหตุซ้ำรอย การเรียนการสอนช่วงบ่ายก็โดนยกเลิก ตอนกลับบ้านก็ให้กลับกันเป็นกลุ่ม
พวกผมกลับบ้านกันไปครู่หนึ่ง แล้วออกมารวมตัวที่สวนสาธารณะใกล้ ๆ กันครับ

หายสาบสูญ” เป็นอะไรที่เคยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว พวกผมเลยไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรกันดี วันนั้นทุกคนต่างก็เงียบ
พอคุยเรื่องของเจ้าตัวกันอยู่สักพัก จู่ ๆ ทุกคนที่อยู่ตรงนั้นก็นึกเรื่องหนึ่งออกขึ้นพร้อมกัน

ตอนที่ทาโดโคโระคุงเล่า “เรื่องฝา” เขาไม่ได้พูดคำที่พูดประจำ

ตัวตนที่แท้จริงของความผิดปกติที่ทุกคนสัมผัสได้

นั่นก็คือ จุดที่เขาไม่ได้พูดประโยคที่ว่า “นี่เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นน่ะ
ตอนที่ทุกคนนึกออก ทุกคนรู้สึกเหมือนเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด “เฮ้ย เป็นงั้นเองเหรอวะ
เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงนั่นเอง

เด็กประถม” ที่เป็นตัวเอกในเรื่อง ก็คือตัวทาโดโคโระคุงเอง
เขาก็หายสาบสูญไปเหมือนกับในเรื่องที่เขาเล่าไม่มีผิดเพี้ยน
อาจารย์เรื่องสยอง the Great ได้กลายเป็น “
เรื่องสยอง” ตามชื่อ

พอคิดแบบนั้น น่าแปลกที่กลับไม่รู้สึกเศร้าเลย

กูว่าละ หมอนั่นน่ะ Great จริง ๆ

ใครสักคนเอ่ยปากพูดออกมา
เป็นคำที่เหมือนจะแทนความรู้สึกที่มีในใจของทุกคน
เรื่องสยองสุดท้ายของทาโดโคโระคุง เป็นเรื่องราวของตัวเขาเอง แล้วเขาก็กลายเป็นตำนาน

นี่คือ “เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง” เรื่องที่สองของทาโดโคโระคุง

.................................

ผ่านมาแล้ว 20 ปี ปัจจุบันก็ยังไม่พบตัวทาโดโคโระคุง
พ่อแม่ของทาโดโคโระคุงเองก็ย้ายบ้านทันทีหลังจากเกิดเรื่อง จะไปถามว่า ต่างจังหวัดที่ปู่ย่าของเขาอยู่นั้นคือที่ไหนถามเรื่องภาพถ่ายและสมุดสเก็ตช์ ก็ไม่ได้ทำ

มาลองคิดดูตอนนี้ อาจจะเป็นการสรุปที่เหมือนจะไม่เข้าท่า แต่พวกผมก็อยากจะใส่ความนับถือและยกย่องในตัวเขาไว้ แล้วเชื่อเสียว่า ต้นเหตุของการหายสาบสูญของเขานั้น มาจาก “แผ่นโลหะ” นั้นครับ

ตอนที่ไปงานรวมรุ่นเจอกับเพื่อนในสมัยนั้น เรามีประโยคประจำกันครับว่า “ดื่มให้กับ Great ผู้ที่ได้กลายเป็นเรื่องสยองด้วยตัวเอง

เรื่องเกี่ยวกับทาโดโคโระคุงก็จบเพียงเท่านี้ครับ

——————————

ศาลเจ้าบางที่ก็ไม่ได้มีไว้บูชาเทพนะครับ แต่ไว้กักขังวิญญาณร้ายก็มี เป็นเกียรติแก่ผู้ตายเพื่อให้วิญญาณสงบก็มี การจะลอดเข้าไปในเขตเชือกชิเมะนาวะ ก็เหมือนการไปลบหลู่วิญญาณผู้ตาย รุกล้ำเขตของเทพ หรือก้าวเข้าไปในกรงขังอสูร ไม่ว่าอันไหนก็ไม่น่าจะจบสวยทั้งนั้นครับ

ก่อนจะหลงประเด็น เรื่องที่ทาโดโคโระคุงเล่าเรื่องแรก อาจจะบอกได้ว่า ทำไมฮานาโกะซังถึงมีที่ห้องน้ำหญิงในโรงเรียนทุกที่ทั่วญี่ปุ่น หรือทำไมจดหมายลูกโซ่บางอันถึงก่อให้เกิดเรื่องสยองได้ครับ

หรือจะมองว่าที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น เพราะตัวทาโดโคโระคุงเอง ลืมพูดประโยคประจำ เลยทำให้เรื่องที่เล่ากลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ก็เป็นได้นะครับ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend