เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 35: โอฮิกัง ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล

  • 4 กันยายน 2020
  • 11 มกราคม 2022
  • Mon
  • Mon

เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 35: โอฮิกัง ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล

ฮิกัง (彼岸 / Higan) เป็นหนึ่งในคำที่มักจะได้พบบ่อยในช่วงเดือนมีนาคมและกันยายน ทั้งยังมีความหมายในทางลี้ลับและเกี่ยวข้องกับชื่อดอกไม้ต้องห้ามชนิดหนึ่งด้วย แล้วฮิกังนั้นมีความหมายว่าหมายไร มีความสำคัญเช่นใด ในวันนี้เราจะไปค้นหาเรื่องทุกอย่างที่เกี่ยวกับคำคำนี้ครับ

ฮิกัง คืออะไร?

ฮิกัง คืออะไร?

ฮิกัง (彼岸 / Higan) เป็นคำที่แปลงมาจากคำว่า ฮารามิตสึ (波羅蜜 / Haramitsu) นำมาจากภาษาสันสกฤต เข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนาจากทางจีนครับ ส่วนรากศัพท์ของ ฮารามิตสึ ก็คือ ปารมิตา ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า บารมี นั่นเอง ซึ่งหมายถึงการฝึกฝนสั่งสมเพื่อให้บรรลุธรรมถึงนิพพานในอนาคต (ตามความเชื่อญี่ปุ่นและจีนคือเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้าสักชาติ)

ส่วนในปัจจุบัน คำว่า ฮิกัง ใช้หมายถึงช่วงวันที่การเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์อยู่ตรงกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ในภาษาไทยจะเรียกวันที่ตรงพอดีว่าวันวิษุวัต (Equinox) ปีหนึ่งจะมีสองครั้ง คือ ศารทวิษุวัต (Vernal Equinox) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นก็คือ ชุมบุนโนะฮิ (春分の日 / Shunbun no hi) ซึ่งอยู่ประมาณวันที่ 19 หรือ 20 มีนาคม (เปลี่ยนไปตามปี โดยเฉพาะปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์) และ วสันตวิษุวัต (Autumnal Equinox) หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ ชูบุนโนะฮิ (秋分の日) ซึ่งจะอยู่ระหว่างวันที่ 22 หรือ 23 กันยายน (เปลี่ยนไปตามปี) ครับ

แต่ก็อย่างที่บอกไว้ทีแรก ฮิกัง ไม่ได้หมายถึงตัววันที่เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นั้นตรง ๆ แต่กล่าวถึงช่วงรอบ ๆ วันดังกล่าว โดยนับช่วงก่อนหลังอีกอย่างละ 3 วัน รวมเป็นช่วงเวลา 7 วันครับ

ช่วงเวลาฮิกัง สำคัญอย่างไร

ช่วงเวลาฮิกัง สำคัญอย่างไร

ในทางพุทธ นี่คือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและตกตรงกับทิศตะวันออก-ตก เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน จึงมีความเชื่อว่า เป็นช่วงที่วิญญาณจากปรภพหรือโลกโน้น (あの世 / Ano yo) จะมาเยือนโลกได้ครับ คล้าย ๆ กับช่วงโอบง แต่เป็นความเชื่อที่เกิดเฉพาะในญี่ปุ่น ทางจีนและอินเดียก็ไม่ได้มีความเชื่อนี้ครับ (ของจีนมีสารทจีนหรือโอบงของทางจีน ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างเดือนสิงหา-กันยาตามปฏิทินจันทรคติ) ส่วนของไทยแม้จะไม่ตรงวันกัน แต่ก็มีงานสารทไทยหรือสารทเดือน 10 ในช่วงแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งใกล้กับช่วงฮิกังฤดูใบไม้ร่วงพอดีครับ

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงดังกล่าว ทางวัดบางแห่งจึงมีการจัดพิธีสวดวัชรัจเฉทิกาปรัชญาปารมิตาสูตร (金剛般若波羅蜜多経 / Kongo Hannya Haramitsu Kyo) กันบ้าง และเนื่องจากวันชุมบุนและชูบุนยังเป็นวันหยุดราชการด้วย (โดยเฉพาะชูบุนจะอยู่ใกล้วันเคารพผู้อาวุโส จึงเป็นวันหยุดยาวที่เรียกกันว่า Silver Week ครับ) ทางผู้คนทั่วไปก็มีการไปทำความสะอาดสุสานกันบ้าง ถวายเครื่องเซ่นให้กับญาติ ๆ ที่สุสานกันบ้าง แต่ก็แล้วแต่ธรรมเนียมประจำตระกูลครับ เพราะอาจจะซ้ำซ้อนกับโอบงที่มีการรวมญาติและไปสุสานในเดือนสิงหา

สิ่งของประจำช่วงฮิกัง

สิ่งของประจำช่วงฮิกัง

สำหรับการไปไหว้สุสาน สิ่งที่นิยมนำไปเซ่นไหว้ก็คือ ขนมโบตะโมจิ (牡丹餅 / Botamochi โมจิโบตั๋น) และโอฮากิ (おはぎ / Ohagi ขนมที่ทำจากต้นฮากิ) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้หน้าตาเหมือนกัน แต่ส่วนประกอบและช่วงเวลาที่ทำจะต่างกันไปตามแต่ว่าเป็นฮิกังฤดูใบไม้ผลิ (โบตั๋น) หรือใบไม้ร่วง (ฮากิ) นั่นเองครับ

นอกจากนี้ยังมีการยกดอกไม้ที่บานในช่วงดังกล่าวให้เป็นดอกไม้ประจำช่วงด้วยครับ ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่า ช่วงฮิกันของฤดูใบไม้ผลิก็คือดอกซากุระครับ โดยเฉพาะพันธุ์ฮิกังซากุระ ส่วนช่วงฮิกังของฤดูใบไม้ร่วงก็คือ ดอกพลับพลึงแดง (Red Spider Lily) หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ดอกฮิกังบานะ 彼岸花 (Higanbana) ครับ

ดอกฮิกังบานะ ดอกไม้ต้องห้าม?

ดอกฮิกังบานะ ดอกไม้ต้องห้าม?

ดอกฮิกังบานะนั้น จะบานในช่วงฮิกังฤดูใบไม้ร่วง เป็นหนึ่งในสิ่งน่าชมประจำเดือนกันยายนถึงขั้นที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับไปชมดอกไม้ชนิดนี้มากมาย แต่สมัยก่อนกลับถูกเรียกว่า ดอกไม้ผู้วายชนม์ ดอกไม้นรก ดอกไม้ผี ดอกไม้พิษ เป็นดอกไม้แห่งโชคร้าย และเป็นดอกไม้ต้องห้ามครับ คือห้ามปลูก ห้ามเด็ด ห้ามนำไปใช้งานครับ

สาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะมันมีความเป็นด่างสูง มีความเป็นพิษมากครับ จึงมีการห้ามต่าง ๆ รวมถึงตั้งชื่อให้ดูน่ากลัวหรืออันตราย เพื่อกันไม่ให้เด็ก ๆ หรือคนที่ไม่รู้ไปจับต้องครับ

แต่ถึงกระนั้น ในญี่ปุ่นก็จะพบดอกไม้ชนิดนี้ได้มากตามสุสานหรือหลุมศพครับ นั้นก็เพราะความเป็นพิษของมันช่วยป้องกันหลุมศพหรือสุสานจากแมลงหรือตัวตุ่น คนจึงนิยมนำมาปลูกที่สุสานเพื่อการนั้นครับ ส่วนคนที่ไม่รู้ความเป็นมาก็จะนึกว่า ดอกไม้พวกนี้ชอบขึ้นตามที่ที่มีคนตาย กลายเป็นดอกไม้แห่งผู้วายชนม์ไปครับ ยิ่งดอกมาบานในช่วงฮิกังที่ว่ากันว่าประตูนรกเปิด ก็ยิ่งเสริมความเชื่อด้านนี้ไปครับ

ในภาษาดอกไม้ ฮิกังบานะยังมีความหมายว่า “ความใคร่” “ความทรงจำอันแสนเศร้า” “ความเดียวดาย” “การพบกันใหม่” “การยอมแพ้ล้มเลิก” “คิดถึงเธอเพียงผู้เดียว” และ “จะเฝ้ารอจนกว่าจะถึงวันที่จะได้พบกัน” ครับ ภาษาดอกไม้เหล่านี้ยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของมังงะและอนิเมะมากมาย เช่น อินุยาฉะ และ ดาบพิฆาตอสูร เป็นต้นครับ

ในปัจจุบัน เนื่องจากดอกไม้มีความงดงามและวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าจนรู้เรื่องความเป็นพิษและวิธีการป้องกันตัวเองจากพิษ บางที่ก็รณรงค์ความเชื่อในมุมใหม่ของดอกไม้ชนิดนี้ รวมถึงการใช้ชื่อว่า มันจุชาเกะ 曼珠沙華 (Manjushage) ซึ่งเป็นชื่อดอกไม้ที่บานในสรวงสวรรค์ตามความเชื่อทางพุทธ มาจากภาษาสันสกฤต แปล่วา “ดอกไม้สีแดง” แน่นอนว่าตามวัดและสวนที่มีดอกไม้นี้เป็นจุดขายก็นิยมเรียกชื่อนี้กันครับ

แถม เรื่องลี้ลับ ฮิกังบานะ

แถม เรื่องลี้ลับ ฮิกังบานะ

คุณย่าท่านชอบดอกฮิกังบานะครับ

ดูเหมือนว่าคุณปู่สมัยยังมีชิวิตท่านชอบดอกฮิกังบานะมาก ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ตัวคุณย่าเองก็ชอบตามไปด้วย

คุณปู่ท่านจากไปด้วยอาการป่วยเมื่อ 5 ปีก่อนครับ

ท่านมีนิสัยที่คุยง่ายและใจดีเอามาก ๆ สมัยเด็ก ๆ ท่านจะพาผมไปเล่นที่แม่น้ำเพื่อตกปลาบ้างเล่นน้ำบ้าง

ไปจับแมลงด้วยกันก็มีครับ ผมเองก็ชอบคุณปู่ไม่น้อยไปกว่าที่คุณย่าชอบคุณปู่เลยครับ

พอถึงช่วงฮิกัง คุณย่าท่านก็มักจะนำดอกฮิกังบานะมาเซ่นไหว้ที่หิ้งพระครับ

"เพราะนี่เป็นดอกไม้ที่ปู่ชอบไงล่ะ" แล้วก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องต้องห้ามก็ตาม

แล้วในวันนั้น คุณย่าก็หันไปทางหิ้งพระพูดคุยกับอะไรบางอย่างอยู่ครับ

ผมก็คิดว่า คงคุยกับคุณปู่ที่กลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์ในช่วงฮิกังกระมั้ง

ก็เลยไม่ได้สนใจฟังว่าท่านพูดคุยเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

แต่ปีนี้กลับมีอะไรผิดแปลกจากทุกปีไปนิดหน่อยครับ

ผมตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะดันปวดท้องเลยลุกไปห้องน้ำ

พอลงบันไดเดินไปตามทางเดิน ก็ได้ยินเสียงพูดคุยมาจากห้องพระ เสียงคุณย่านั่นเองครับ

"ดึกดื่นป่านนี้เลยเหรอ?" ผมเดินเข้าไปใกล้ ๆ ห้องพระ

แต่ก็พบว่าไม่ได้มีแค่เสียงคุณย่าครับ มีเสียงผู้ชายด้วย

"คุณพ่อเหรอ? แต่เสียงก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ญาติที่รู้จักสักคน... เสียงใครหว่า?"

เลยแอบเปิดประตูเลื่อนสักนิดอย่างเงียบ ๆ

ภายในห้องก็มีคุณย่า กับคุณปู่ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ทั้งคู่กำลังคุยกันอย่างมีความสุข

เห็นอย่างนั้น ผมกลับไม่รู้สึกกลัว กลับนึกถึงความหลังและดีใจที่ได้เห็นหน้าคุณปู่ที่ไม่ได้เจอกันมานานแทนครับ

พอมองทั้งสองคนอยู่สักพัก คุณปู่ก็รู้สึกตัวและหันมาทางผม

คุณปู่ท่านมองหน้าผมด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มเต็มที่ครับ

น้ำตาก็ไหลไม่หยุดเลย

คุณปู่ในสภาพที่เหมือนกับในความทรงจำผมทุกอย่าง ท่านอยู่ตรงหน้าครับ

แต่พอปาดน้ำตาแล้วเข้าไปในห้อง คุณปู่ท่านก็ไม่อยู่แล้ว

"คุณย่า คุยอะไรกับคุณปู่เหรอครับ?" ผมถามคุณย่าด้วยคำถามที่ไม่เคยถามมาก่อนเลยสักครั้ง

"ปู่น่ะ ในที่สุดก็มารับย่าซะทีแหล่ะ" "หือ?"

คุณย่าท่านละสายตาจากผมที่ยังงงอยู่ว่าพูดเรื่องอะไร "ดึกแล้ว ไปนอนกันดีกว่า" ท่านหัวเราะแล้วก็เดินไปที่ห้องนอนครับ

ผมก็นึดขึ้นได้ว่าจะมาเข้าห้องน้ำ เลยรีบไปทำธุระแล้วก็นอนหลับไปครับ

ตื่นมาตอนเช้า ผมนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อคืน

"คงไม่ใช่ะว่ามารับตัวไปจริง ๆ หรอกนะ!"

พอคิดแบบนั้นปุ๊บ ผมก็รีบลงไปชั้นล่าง แต่ก็เจอคุณย่าท่านยังแข็งแรงดีเป็นปกติครับ

ว่าจะถามเรื่องเมื่อคืน แต่ก็วุ่น ๆ กับการเตรียมอาหารเช้ากับญาติ ๆ สุดท้ายก็เลยไม่ได้ถามคุณย่าท่านเลยครับ

แล้วพวกผมก็กลับบ้านของตัวเองกัน

หนึ่งเดือนถัดมา คุณย่าท่านก็เสียชีวิตตามคุณปู่ไปครับ ด้วยโรคมะเร็ง

ดูเหมือนว่าท่านปกปิดเรื่องนี้ไม่ให้ญาติ ๆ และพวกผมได้รู้มาโดยตลอด

ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ท่านพูดในตอนนั้นได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาหรือเปล่านะครับ แต่ก็เชื่อว่าตอนนี้ ท่านคงจะได้ไปกับคุณปู่และใช้เวลาร่วมกันที่ฟากโน้นครับ

ช่วงฮิกังปีหน้า ผมก็ตั้งใจว่าจะนำดอกฮิกังบานะมาเซ่นไหว้ท่านทั้งสองคนที่หิ้งพระครับ

ภาษาดอกไม้ของดอกฮิกังก็คือ "จะเฝ้ารอจนกว่าจะถึงวันที่จะได้พบกัน" ครับ

อ่านบทความอื่นได้ที่นี่>>>เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend